วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

พิธีต้อนรับเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ T-50TH กองทัพอากาศไทยสองเครื่องแรก
















Royal Thai Air Force's Welcome Ceremony of first two of Korea Aerospace Industries (KAI) T-50TH Golden Eagle Lead-In Fighter Trainers(LIFT) serial 40101 and 40102, 401st Squadron, Wing 4 Takhli, Nakhon Sawan, Thailand, 25 January 2018

กองทัพอากาศรับเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH ระยะที่ ๑

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๑) พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีต้อนรับเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH จำนวน ๒ เครื่อง (จากทั้งหมด ๔ เครื่อง) 
พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับนักบินของกองทัพอากาศ จำนวน ๖ คน ซึ่งจบหลักสูตร T-50TH จากบริษัท Korea Aerospace Industries, Ltd. (KAI) สาธารณรัฐเกาหลี และนักบินสาธารณรัฐเกาหลีที่ทำการบินนำส่งเครื่องบิน จำนวน ๔ คน ณ กองบิน ๔ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ตามที่กองทัพอากาศ ได้ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น ทดแทนเครื่องบินขับไล่/ฝึกแบบที่ ๑ หรือ L-39 ZA/ART ที่ใช้ในการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นของกองทัพอากาศ ซึ่งบรรจุประจำการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ 
ปัจจุบันได้ทยอยปลดประจำการเนื่องจากมีความพร้อมปฏิบัติการลดลง มีข้อขัดข้องด้านการส่งกำลังและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ไม่คุ้มค่าในการยืดอายุการใช้งาน 
และมีเทคโนโลยีที่ไม่ทันสมัย ไม่สามารถตอบสนองต่อภารกิจการฝึกกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงของกองทัพอากาศต่อไปได้

ดังนั้นกองทัพอากาศจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินขับไล่/ฝึกที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการที่ดีกว่า เพื่อให้สามารถฝึกนักบินให้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่กองทัพอากาศมีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตได้ 
จึงได้พิจารณาจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH ที่มีขีดความสามารถ และมีเทคโนโลยีระบบการฝึกนักบินขับไล่ที่ทันสมัย และมีระบบ Embedded Tactical Training System (ETTS) ทำให้นักบินสามารถทำการฝึกบินได้อย่างเสมือนจริงและทุกสภาพอากาศ 
ก่อให้นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศมีขีดความสามารถและทักษะเพิ่มสูงขึ้น การใช้ระบบเทคโนโลยีให้กับนักบินที่ทำการฝึกกับ Simulator นี้ ก่อให้เกิดความคุ้มค่า และสามารถประหยัดงบประมาณในการฝึกบินให้กับกองทัพอากาศได้ 
นอกจากนี้เครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น แบบ T-50TH สามารถปฏิบัติภารกิจครอบคลุมได้ทั้งการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น และมีขีดความสามารถสูงใช้ปฏิบัติภารกิจการรบจริงได้ด้วย อีกทั้งตอบสนองการปฏิบัติภารกิจทั้งกิจเฉพาะหลัก 
ได้แก่ การฝึกนักบินขับไล่/โจมตีขั้นต้น และกิจเฉพาะรอง ได้แก่ การโจมตีทางอากาศ และการค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ โดยมีความสามารถในการติดตั้งใช้งานระบบอาวุธ ติดตั้งระบบเรดาร์ที่ทันสมัยเพื่อสามารถรองรับระบบอาวุธที่มีระยะไกลเกินสายตา

กองทัพอากาศได้พิจารณาจัดหาเครื่องบิน แบบ T-50TH จำนวน ๑๒ เครื่อง (ระยะที่ ๑ จำนวน ๔ เครื่อง และระยะที่ ๒ จำนวน ๘ เครื่อง) จากบริษัท Korea Aerospace Industries สาธารณรัฐเกาหลี 
โดยจัดทำเป็นโครงการผูกพัน ใช้งบประมาณเสริมสร้างกำลังกองทัพของกองทัพอากาศ ที่ได้รับในแต่ละปีมาจัดทำโครงการ สำหรับระยะที่ ๑ ใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ 
โดยได้จัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น แบบ T-50 TH รวม ๔ เครื่อง พร้อมอะไหล่ อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น โดยเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50 TH ๒ เครื่องแรก ได้มาถึงประเทศไทยในวันนี้ (๒๕ มกราคม ๒๕๖๑) 
ส่วนเครื่องที่ ๓ และ ๔ จะมาถึงในต้นเดือน มีนาคม ๒๕๖๑ และจะมีพิธีบรรจุประจำการอย่างเป็นทางการหลังการตรวจรับขั้นสุดท้ายแล้วเสร็จ

สำหรับการพัฒนากำลังพลให้มีความพร้อม กองทัพอากาศได้ส่งนักบิน จำนวน ๖ คน เข้ารับการฝึกบินกับเครื่องบินแบบ T-50TH ณ สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งขณะนี้นักบินดังกล่าวได้สำเร็จหลักสูตรครูการบิน และนักบินลองเครื่อง กับเครื่องบินแบบ T-50TH เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
โดยมีผลการฝึกอบรมอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม พร้อมปฏิบัติภารกิจกับเครื่องบิน T-50TH ทันทีเมื่อเครื่องบินได้รับการส่งมอบและบรรจุประจำการ
https://www.facebook.com/rtafnew/posts/961502034026072
https://www.facebook.com/rach2511/posts/10215524636927167
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1887821067955445.1073742494.768315146572715
https://www.facebook.com/กองบิน-4-Land-Of-The-King-Cobra-768315146572715/

Clip: นาทีประวัติศาสตร์ T-50TH Golden Eagle ครั้งแรก..บนผืนแผ่นดินไทย ณ กองบิน 4 (ตาคลี) นครสวรรค์ 25 มกราคม 2561
https://www.facebook.com/RTAFpage/videos/1917575634938684/

“ชั่วโมงการฝึกที่เท่ากัน ลงทุนด้วยงบประมาณที่น้อยกว่า และสามารถทำให้นักบินเก่งมากขึ้น” ด้วย Fighter Lead-in เครื่องบินฝึกขับไล่ขั้นต้น T-50TH Golden Eagle
https://www.facebook.com/RTAFpage/posts/1916558751707039

มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายประการในส่วนระบบอาวุธของเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น Korea Aerospace Industries T-50TH Golden Eagle ๒เครื่องแรกหมายเลข 40101 และ40102
ที่กองทัพอากาศไทยจะนำเข้าประจำการ ณ ฝูงบิน๔๐๑ กองบิน๔ ตาคลี ทดแทนเครื่องบินขับไล่และฝึก บ.ขฝ.๑ Aero Vodochody L-39ZA/ART Albatros สาธารณรัฐเชคที่ได้โอนย้ายไปรวมฝูงเดียวเป็นฝูงสุดท้ายที่ ฝูงบิน๔๑๑ กองบิน๔๑๑ เชียงใหม่

จะเห็นได้จากภาพถ่ายระยะใกล้(Close-Up) ของ T-50TH ใหม่ทั้งสองเครื่องว่า ช่องของปืนใหญ่อากาศสามลำกล้องหมุน A-50 ขนาด 20mm ความจุกระสุน ๒๐๕นัดนั้น จะมีแผ่นบังในส่วนด้านบนของช่อง ปญอ.ซึ่งต่างจากเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๑๙ Lockheed Martin F-16 Fighting Falcon
ซึ่งจากตำแหน่งช่องปืนกับฝาครอบนักบิน(Canopy)ของ T-50 ที่ห่างน้อยกว่า F-16 เข้าใจว่าแผ่นบังช่องปืนดังกล่าวน่าจะเพื่อกันสะเก็ด เขม่า และความร้อนที่เกิดระหว่างการยิงปืนใหญ่อากาศไม่ให้ถูกห้องนักบินโดยตรง

ในส่วนขีดความสามารถในการใช้ระบบอาวุธของเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ T-50TH นั้นนับว่ามีความก้าวหน้ามากอย่างมากเมื่อเทียบกับ บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART ที่ได้รับการปรับปรุงระบบอาวุธและ Avionnic ให้เป็นมาตรฐาน NATO โดยบริษัท Elbit อิสราเอล
ซึ่งเข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗(1994) ๓๖เครื่องในฝูงบิน๑๐๑ ฝูงบิน๑๐๒ และฝูงบิน๔๐๑ ต่อมามีการจัดหาเพิ่มอีก ๔เครื่องรวม ๔๐เครื่องทดแทนเครื่องที่สูญเสียไปจากอุบัติเหตุในการฝึก จนทยอยปลดเครื่องที่หมดอายุการใช้งานและมารวมที่ฝูงบิน๔๑๑ เป็นฝูงสุดท้ายในข้างต้น

L-39ZA/ART นั้นถูกกำหนดแบบเป็นเครื่องบินขับไล่และฝึกเนื่องจากสมรรถนะของเครื่องแม้ว่าจะติดตั้งเครื่องยนต์ Ivchenko AI-25TL กำลังขับ 3,800lbf ทำความเร็วสูงสุด 405knot ซึ่งต่ำกว่าความเร็วเสียง และไม่ติด Radar ควบคุมการยิงก็ตาม
แต่ L-39ZA/ART นั้นมีปืนใหญ่อากาศสองลำกล้อง GSh-23L 23mm สามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ AIM-9 Sidewinder รวมถึงจรวดอากาศสู่พื้น 2.75" และระเบิดทำลาย Mk80s จึงมีสมรรถนะการรบใกล้เคียงกับเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๑๘/ก F-5A/B ที่ยังคงประจำการในช่วงนั้น

ในส่วนของระบบการฝึกนักบินพร้อมรบแบบบูรณาการที่กองทัพอากาศไทยและบริษัท KAI สาธารณรัฐเกาหลีประชาสัมพันธ์มาโดยตลอดแล้ว การนำเสนอแบบจำลองของ T-50TH นั้นถูกจัดแสดงในรูปแบบเครื่องบินขับไล่/โจมตีเบา FA-50 ที่มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธสูงที่สุด
นอกจาก AIM-9, Hydra 70 และ Mk80s ที่ใช้กับ L-39 เดิมแล้ว T-50TH ยังรองรับอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น AGM-65 Maverick, ระเบิดนำวิถีอมภัณฑ์ย่อยนำ CBU-105 และระเบิดนำวิถีดาวเทียม GBU-38/GBU-32 JDAM เป็นต้นด้วย

ทั้งนี้จากการประชาสัมพันธ์ของกองทัพอากาศไทยที่แสดงว่าระบบ Radar ควบคุมการยิงของ T-50TH นั้นน่าจะเป็นแบบ EL/M-2032 อิสราเอล เช่นเดียวกับโครงการปรับปรุงเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๑๘ ข/ค F-5E/F Super Tigris ๑๔เครื่องของ ฝูงบิน๒๑๑ กองบิน๒๑ อุบลราชธานี
(http://aagth1.blogspot.com/2017/08/f-5-super-tigris.html)
กองทัพอากาศไทยอาจจะมีความต้องการที่จะให้ T-50TH สามารถรองรับอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยกลางระยะยิงเกินสายตา(BVR: Beyond Visual Range) ที่ FA-50 เองยังไม่มีการทดสอบรองรับในตอนนี้ไม่ว่าจะเช่น AIM-120 AMRAAM หรือ Rafael I-Derby ครับ