วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รัสเซียบรรยายเสนอเรือดำน้ำ Project 636 Kilo และ Amur 1650 ให้กองทัพเรือไทย

การบรรยายคุณลักษณะของเรือดำน้ำดีเซล ชั้น AMUR 1650 และเรือดำน้ำ ชั้น KILO (Project 636)

Release Date : 10-06-2014 16:08:21

พล.ร.ต.พงศกร  กุวานนท์  ผอ.สยป.ทร. ร่วมฟังการบรรยายคุณลักษณะของเรือดำน้ำดีเซล ชั้น AMUR 1650 และเรือดำน้ำ ชั้น KILO (Project 636)
จาก บริษัท Rosoboronexport จำกัด จาก สหพันธรัฐรัสเซีย

http://www.namo.navy.mi.th/index.php/today/detail/content_id/3096

การบรรยายคุณสมบัติเรือดำน้ำของ Rosoboronexport นี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดในเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือครับ
แต่โดยส่วนตัวมองว่านี่เป็นเพียงการบรรยายเสนอข้อมูลแก่สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือตามปกติทั่วไปเท่านั้น
ไม่ได้มีความหมายพิเศษว่ากองทัพเรือสนใจจะจัดหาเรือดำน้ำรัสเซียในเร็วๆนี้แต่อย่างใด

สำหรับข้อมูลของเรือดำน้ำ Project 636  Improved Kilo และ Amur 1650 สามารถดูจากจาก Website ของสำนักออกแบบ Rubin ผู้พัฒนาเรือทั้งสองแบบ


Project 636 
http://www.ckb-rubin.ru/en/projects/naval_engineering/conventional_submarines/project_636/

Amur 1650
http://www.ckb-rubin.ru/en/projects/naval_engineering/conventional_submarines/amur_1650/

ถ้าย้อนกลับไปในอดีตสักเกือบ 20ปีมาแล้ว รัสเซียมีความพยายามที่จะเสนอขายเรือดำน้ำชั้น Kilo ให้กองทัพเรือไทยอยู่บ้าง
เช่นในช่วงการจัดตั้งโครงการจัดหาเรือดำน้ำช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๔๑ กองทัพเรือรัสเซียเคยส่งเรือดำน้ำชั้น Kilo มาจอดแสดงในไทยที่อู่ตะเภาปี พ.ศ.๒๕๔๐มาก่อน


(ข้อมูลนี้เคยลงในนิตยสารสมรภูมิในช่วงนั้น)
แต่แนวทางของกองทัพเรือก็จะเลือกเรือระบบตะวันตกตลอด เช่น A19 Gotland สวีเดน หรือ U206 เยอรมนี แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในการจัดหา
ตรงนี้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากเพราะบุคลากรด้านเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยนั้นส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกศึกษาจากตะวันตกโดยเฉพาะเยอรมนีเป็นหลัก


สำหรับเรือดำน้ำแบบ Kilo ประเทศใน ASEAN ที่สั่งจัดหาไปคือเวียดนามจำนวน 6ลำ เป็นรุ่น Project 636 KMV ซึ่งมีความทันสมัยสูงที่สุด
และมีข่าวว่ากองทัพเรืออินโดนีเซียให้ความสนใจจะจัดหามาเสริมนอกจากเรือดำน้ำ 3ลำของ DSME เกาหลีใต้ ซึ่งตอนนี้ยังล่าช้าอยู่
(Improved Chang Bogo มีพื้นฐานจาก U209 เยอรมนี)
ส่วน Amur 1650 นั้นเป็นแบบเรือที่ออกแบบมาสำหรับส่งออกซึ่งยังไม่เคยมีการต่อตัวเรือจริงๆออกมาก่อน แต่รัสเซียก็มีการเสนอขายให้ต่างประเทศเสมอ

ก่อนหน้านี้เองก็มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเรือดำน้ำแบบ Kilo ของกองทัพเรืออินเดียคือชั้น Sindhughosh หลายครั้ง
โดยเฉพาะ S63 INS Sindhurakshak ที่ระเบิดจมที่ท่าเรือ Mumbai ปี 2013 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและเรือเพิ่งกู้ขึ้นมาได้
แต่เรือชั้น Sindhughosh ของกองทัพเรืออินเดียนั้นเป็นเรือรุ่นเก่าคือ Project 877EKM ที่เข้าประจำการในช่วงปี 1986-2000 จำนวน 10ลำ
ซึ่งเรือรุ่นใหม่ของรัสเซียทั้ง Project 636 Improved Kilo และ Amur 1650 น่าจะมีความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยที่สูงกว่าเรือรุ่นเก่าอยู่
และเรือดำน้ำแบบ Kilo ก็ได้รับการจัดหาอยู่เรื่อยทั้งจากกองทัพเรือรัสเซียเองคือ Project 636.3 Varshavyanka จำนวน 6ลำ
กับกองทัพเรือแอลจีเรีย Project 636M 2ลำรับมอบในปี 2010 และลงนามจัดหาเพิ่ม 2ลำเร็วๆนี้โดยจะได้รับมอบในปี 2018

อย่างไรก็ตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลอีกมาก
ในขณะที่อาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำที่สัตหีบใกล้จะเสร็จพร้อมเปิดใช้งานเต็มรูปแบบแล้ว
แต่งานหลักของกองเรือดำน้ำในปัจจุบันยังคงเน้นไปที่การเป็นแหล่งวิทยาการในการฝึกศึกษาด้านเรือดำน้ำของกองทัพเรือเป็นหลัก ไม่ต่างจากตอนที่ยังเป็นสำนักงานกองเรือดำน้ำนัก

โดยการจัดหางบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำใหม่จากอู่ต่อเรือนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบใดย่อมจะใช้เงินเป็นจำนวนมากสำหรับเรือดำน้ำอย่างน้อย ๒ลำขึ้นไป
ถ้าอ้างอิงตามเอกสารแผนบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพเรือ พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๔
งบประมาณที่ต้องใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำใหม่สองลำขั้นต่ำอยู่ที่ 40,000ล้านบาท หรือลำละ 20,000ล้านบาท (ประมาณลำละ $600 million)
แต่ในความเป็นจริงอาจจะต้องการเรือดำน้ำใหม่สองลำที่ใช้งบประมาณไม่เกิน 20,000-30,000ล้านบาท (ประมาณลำละ $300-450 million)
ซึ่งในสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในการจัดหางบประมาณสำหรับโครงการเรือดำน้ำในช่วงนี้


ที่มา Page กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ
https://www.facebook.com/pages/Submarine-Squadron-กองเรือดำน้ำ-กองเรือยุทธการ/222887361082619

อีกประการคือระบบการฝึกของกองเรือดำน้ำในปัจจุบันนั้นเป็นระบบจากเยอรมนีเป็นหลักด้วย รวมถึงการส่งกำลังพลไปฝึกศึกษาด้านเรือดำน้ำกับเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน
การจัดหาเรือจากรัสเซียหรือจีนซึ่งเคยมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้การฝึกหลายๆอย่างก็ต้องเริ่มกันใหม่ ซึ่งนั่นก็ไม่ทราบว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียสำหรับกองทัพเรือ
เพราะกองทัพเรือขาดช่วงระยะการมีเรือดำน้ำมานานกว่า 60ปีแล้ว จะเริ่มใหม่กับระบบเรือดำน้ำประเทศใดก็ไม่คงต่างกันนัก
แต่ถ้าเลือกได้นักดำเรือดำน้ำในอนาคตย่อมต้องการเรือดำน้ำที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดและประสิทธิภาพสมเหตุสมผลที่สุด
เราคงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุร้ายแรงต่อกำลังพลเรือดำน้ำในอนาคตของกองทัพเรือไทยเช่นเดียวกับกองทัพเรือต่างประเทศที่ใช้เรือด้อยคุณภาพแน่ๆ

และนั่นคือคือเหตุผลที่โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยย่อมจำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบอย่างที่สุด
ดังนั้นในตอนนี้โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยจึงยังตั้งอยู่บนความไม่ชัดเจนแน่นอนเช่นเดิมครับ