วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2567

หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือไทยพัฒนายานนำพานักดำน้ำ DPV สำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจม




Naval Special Warfare Command (NSWC), Royal Thai Fleet (RTF), Royal Thai Navy (RTN), also known as "RTN SEAL" unveiled domestic Diver Propulsion Vehicle (DPV) for Underwater Demolition Team (UDT)/SEAL Team development programme during Navy Research 2024 exibition at Royal Thai Navy Auditorium, Bangkok Yai District, Bangkok, Thailand on 31 July 2024. (Royal Thai Navy)


Royal Thai Navy SEALs and US Navy SEALs operators during joint exercise in early 2024. (US Navy)

สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ จัดงาน นาวีวิจัย 2024 “นาวีวิจัย ประชาชนภูมิใจ ทะเลไทยมั่นคง”
วันนี้ (31 กรกฎาคม 2567) เวลา 09.30 น. พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดงาน นาวีวิจัย 2024 “นาวีวิจัย ประชาชนภูมิใจ ทะเลไทยมั่นคง” ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเรือตรี อนุสรณ์  ยังคุ้มญาติ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือให้การต้อนรับ
จากนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ 2567 ด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกองทัพเรือ ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการทหาร ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของกองทัพเรือและหน่วยงานผู้ใช้ทั้งภายในและภายนอก โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์เป็นหลัก เพื่อนำผลการวิจัยเข้าสู่สายการผลิตและบรรจุใช้ประจำการอย่างจริงจัง 
ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาขีดความสามารถ โครงสร้างพื้นฐาน และส่วนสนับสนุนของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางเรือและทะเล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 
สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ในฐานะที่เป็นหน่วยประสานงานและดำเนินงานโครงการวิจัย จึงได้จัดงาน “นาวีวิจัย 2024” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณนักวิจัย นักประดิษฐ์และคณะทำงาน ที่สร้างผลงานวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์กับกองทัพเรือ เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม 
รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ทั้งของกองทัพเรือ เหล่าทัพ และหน่วยงานวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบถึงทิศทางการวิจัยของกองทัพเรือในอนาคต ที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ และเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการของกองทัพเรือ มีความสนใจการดำเนินการวิจัยกันมากขึ้น อันจะเป็นการนำพาไปสู่การวิจัยเพื่อพึ่งพาตนเองต่อไป

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวขอบคุณและแสดงความยินดีกับนักวิจัย นักประดิษฐ์หน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัลจากความเพียรพยายามในการใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันผลักดันและพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทางการวิจัย อีกทั้งยังส่งเสริมโครงการวิจัยที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับกองทัพเรือ 
สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความเจริญก้าวหน้าสู้หน่วยงานของกองทัพเรืออย่างต่อเนื่อง หากได้มีการต่อยอด ผลงานเหล่านี้ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติต่อไป 
ซึ่งงานในวันนี้ได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลประกาศยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยของกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบรางวัลแก่ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 22 ผลงาน  ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล มีดังนี้ 

ผลงานวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ ได้รับรางวัลดีเด่นทั้ง 3 ผลงาน ได้แก่
 -  การสร้างต้นแบบระบบตรวจจับและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ Anti - Unmanned Aerial Vehicle: Anti - UAV โดย นาวาเอก ชุติภาส  ช่างเกวียน
 -  โปรแกรมและเซ็นเซอร์ตรวจจับ เสียง ความดัน และแม่เหล็ก สำหรับทุ่นระเบิด โดย พลเรือตรี อนุสรณ์  ยังคุ้มญาติ
 -  ทุ่นวิเคราะห์เสียงใต้น้ำ โซโนบุย SONOBUOY โดย พลเรือตรี อนุสรณ์  ยังคุ้มญาติ

ผลงานวิจัยด้านสิ่งประดิษฐ์ ทั้งหมด 9 ผลงาน ได้รับรางวัลดีเด่น 3 ผลงาน ได้แก่ 
 -  การพัฒนารถเข็นนอนเคลื่อนย้าย 3S STRETCHER โดย เรือเอกหญิง กิติยา  บัวล้อมใบ
 -  ยานพิสูจน์ทราบสารพิษ (เสือดำ 2) โดย พลเรือตรี ธานินทร์  ทิพย์โส
 -  เครื่องตรวจจับลมหายใจและชีพจรขณะนอนหลับ โดย ว่าที่เรือเอก วินัย ศิริโชติ

ผลงานวิจัยด้านหลักการ ได้รับรางวัลชมเชย 10 ผลงาน
 นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยของภาครัฐอื่น ๆ ได้แก่ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (ศวอ.ทอ.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ องค์การมหาชน (สทป.) รวมทั้งผลงานวิจัยของภาคเอกชนที่น่าสนใจอีกหลายบริษัท ที่นำมาจัดแสดง 
เช่น โครงการวิจัยฯ ระบบเฝ้าตรวจและรายงานเคลื่อนที่ (R-SIM) โครงการวิจัยฯ อากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเลแบบที่ 2 (Marcus - โครงการวิจัยฯ การผลิตและทดสอบใบจักรเรือแมงกานีสอะลูมิเนียมบรอนซ์ เป็นต้น

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

งาน 'นาวีวิจัย 2024' ที่จัดโดย สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ สวพ.ทร.(NRDO: Naval Research and Development Office) กองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๗(2024) โดย พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือไทย เป็นประธานเปิดงาน
หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ นสร.(NSWC: Naval Special Warfare Command) กองเรือยุทธการ กร.(RTF: Royal Thai Fleet) หรือที่รู้จักในชื่อ "RTN SEAL" ได้เปิดเผยโครงการยานนำพานักดำน้ำและยุทโธปกรณ์เข้าสู่เป้าหมายสำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจม(DPV: Diver Propulsion Vehicle) เป็นครั้งแรก โดยมีรายละเอียดที่นำเสนอในส่วนจัดแสดงของงานนาวีวิจัย 2024 ดังนี้

วัตถุประสงค์
เพื่อวิจัยและพัฒนาต้นแบบยานนำพานักดำน้ำ(Diver Propulsion Vehicle, DPV) ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับใช้งานการปฏิบัติการใต้น้ำ เพื่อศึกษาเทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างยานฯ ระบบจ่ายพลังงาน ระบบขับเคลื่อน ระบบแสดงสถานะของยานนำพานักดำน้ำ (DPV) 
และใช้เป็นแนวทางในการวิจัย และพัฒนายานนำพานักดำน้ำที่มีสมรรถนะสูงขึ้น พร้อมกับเครื่องมือ และอุปกรณ์เสริม ใช้งานร่วมกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจใต้น้ำได้ตามความต้องการของ นสร.

คุณลักษณะของผลงาน
1. ความเร็วสูงสุดที่ต้องการ 2 knots หรือ 1m/s
2. สามารถทนความลึกได้ไม่น้อยกว่า 30m
3. มีจอแสดงสถานการณ์ประกอบด้วย Compass heading, Depth Leak indicator, Temperature, Time (hr : min : sec)
4.คันเร่งสามารถปรับได้สองระดับ
5. คันเร่งติดตั้ง Safety Switch

ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้องค์ความรู้ในด้านการออกแบบโครงสร้างยานใต้น้ำ และการออกแบบโปรแกรมควบคุมที่มีประสิทธิภาพ
2. ได้ต้นแบบยานนำพานักดำน้ำ ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งานของ นสร.กร.
3. ช่วยส่งเสริม และพัฒนาประเทศในด้านการพึ่งพา และพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เองอีกทางหนึ่ง
4. ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยให้แก่หน่วยงานที่สนใจ และต้องการต่อยอดการวิจัย

หน่วยบัญชาสงครามพิเศษทางเรือ นสร.กร. ได้มีการใช้งานยานขับเคลื่อนใต้น้ำแบบมีนักประดาน้ำนั่งบังคับใต้น้ำ ๒นาย(Chariot Manned Torpedoes) และยานนำพานักดำน้ำขนาดเล็กใช้มือจับมาตั้งแต่อดีตแล้ว โดยยานใต้น้ำที่ปลดประจำการแล้วส่วนหนึ่งน่าจะได้ถูกนำมาจัดแสดง ณ ที่ตั้งหน่วยในเกาะพระ หรือที่ พิพิธภัณฑ์นักทำลายใต้น้ำจู่โจม มูลนิธินักทำลายใต้น้ำจู่โจม(Thai Navy SEAL Foundation) ในจังหวัดชลบุรี
ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.๒๕๖๒(2019) กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กปถ.(Diver and Explosive Ordnance Disposal Division) กรมสรรพาวุธทหารเรือ สพ.ทร.(Naval Ordnance Department) ก็มีโครงการจัดซื้อยานขับเคลื่อนใต้น้ำ(SDV: Swimmer Delivery Vehicle or UPV: Underwater Propulsion Vehicle) จำนวน ๑เครื่อง ภายในวงเงิน ๑๒,๙๙๐๐,๐๐๐บาท($420,298) ครับ(https://aagth1.blogspot.com/2019/08/eod.html)