วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562

กองทัพเรือไทยทำพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์




Royal Thai Navy's OPV-552 HTMS Prachuap Khiri Khan the second Krabi class Offshore Patrol Vessel was handover ceremony at Laem Thian Pier, Sattahip Naval Base, Chonburi province, Thailand in 27 September 2019












กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ....วันที่ 27 กันยายน 2562 พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี...Photo Sompong Nondhasa
https://www.facebook.com/sompong.nondhasa/posts/1899465423489893




กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ (27 กันยายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 
โดยมี พลเรือเอก นพดล สุภากร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือตรี สมพงษ์ นาคทอง ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ กำลังพลประจำเรือ และแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับ


กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชกรมอู่ทหารเรือ กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 
ต่อมาในปี 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ และทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี 
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาประกอบพิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00 น. ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี


โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เป็นโครงการที่กองทัพเรือขออนุมัติกระทรวงกลาโหมดำเนินการต่อขึ้นจากแบบเรือที่กองทัพเรือมีใช้ราชการ 
ด้วยการน้อมนำและยึดถือการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ตามกระแสพระราชดำรัสที่ทรงรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล และผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2545 ที่ว่า 
“กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” 


ซึ่งกองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่กองทัพเรือมีใช้ในราชการ โดยมีมติให้ใช้แบบเรือของเรือหลวงกระบี่ ที่กองทัพเรือได้ต่อขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เป็นแบบพื้นฐานในการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่พร้อมกับเสนอแนะให้ปรับปรุงข้อบกพร่องในส่วนต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงปัตตานี และเรือหลวงกระบี่ 
เพื่อให้เรือลำใหม่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมมากขึ้นในการตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรืออนุมัติให้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ทั้งนี้ โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมายในทะเล และการปฏิบัติการรบผิวน้ำ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่น ๆ 
เพื่อให้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 นี้ปฏิบัติการตามภารกิจหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย สอดคล้องกับพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานในพิธีวางกระดูกงูเรือ ต.91 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2510 ณ กรมอู่ทหารเรือที่ว่า
“การป้องกันประเทศทางทะเลเป็นหน้าที่โดยตรงและสำคัญที่สุดของกองทัพเรือ หน้าที่นี้เป็นภาระหนักที่ต้องอาศัยทหารซึ่งมีความรู้ความสามารถและเรือรบจะมีคุณภาพดี ประกอบพร้อมกันไป 
บรรดาเรือรบที่ใช้ในราชการเป็นเรือที่สั่งทำจากต่างประเทศ การที่ทางราชการกองทัพเรือสามารถเริ่มต่อเรือยนต์รักษาฝั่งขึ้นใช้ในราชการได้เช่นนี้ จึงควรจะเป็นที่น่ายินดี และน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง นับว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าสำคัญก้าวหนึ่งของกองทัพเรือ”

สำหรับการดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เฉลิมพระเกียรติฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 - 2561 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ 
โดยระยะที่ 1 เป็นการจัดหาเฉพาะระบบตัวเรือ จำนวน 1 ลำ ประกอบด้วยแบบและพัสดุในการสร้างเรือ พร้อมระบบสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงรวมและการบริการทางด้านเทคนิค ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 – 2561 
ระยะที่ 2 การจัดหาระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ และระบบอาวุธ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2559 – 2561 ดำเนินการสร้างเรือ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช โดยการดำเนินงานทั้ง 2 ระยะ ได้ดำเนินการตามแผนเสร็จสิ้นแล้ว 

จึงกล่าวได้ว่า กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของต่างประเทศ แต่ถือเป็นการสร้างเรือขนาดใหญ่ด้วยการพึ่งพาตนเอง 
โดยอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช นับได้ว่าเป็นอู่ซ่อมเรือที่มีขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถให้บริการซ่อมบำรุงเรือทุกขนาดที่กองทัพเรือมีประจำการ
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับมอบเรือแล้ว เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ จะเข้าประจำการที่ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ โดยมี นาวาโท วีรุตม์ ฉายะจินดา เป็นผู้บังคับการเรือ พร้อมด้วยกำลังพลประจำเรือ จำนวน 99 นาย 
โดยการสร้างเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 
การรักษากฎหมายในทะเล และการปฏิบัติการรบผิวน้ำ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่น ๆ

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้โอวาทแก่กำลังพลประจำเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ความว่า
"กองทัพเรือได้รับเรืออีกลำหนึ่งที่ต่อโดยคนไทย 100% เป็นการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงวางรากฐานตั้งแต่ เรือ ต.91 มาสู่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีระวางขับน้ำกว่า 2000 ตัน 
ในปัจจุบันซึ่งมีความใกล้เคียงกับเรือฟริเกต เรือในกองทัพเรือมีเรือหลายประเภทหลายลำ แต่เรือเป็นเพียงเครื่องมือประการหนึ่งแต่คนต่างหากที่สำคัญกว่า ความสอดคล้องระหว่างเครื่องมือกับคน แต่คนต้องเก่งก่อนต้องมีความรู้ความสามารถจึงจะใช้อย่างมีคุณภาพ 
วันนี้วันเริ่มต้นของการใช้เรือเริ่มจากศูนย์ เกียรติยศไม่ได้มีมาแต่ชาติกำเนิดแต่เกิดจากการกระทำ จะได้เกียรติหรือไม่ควรจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลงความคิดความรู้ก็ทำให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป"

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/2681904721860867

แผนผังระบบอาวุธและอื่นๆที่สำคัญของ ร.ล. ประจวบคีรีขันธ์ OPV ที่มีระบบอาวุธที่แหลมคมที่สุดในภูมิภาคอาเชี่ยน
https://www.facebook.com/sompong.nondhasa/posts/1899425963493839

Clip:VTR_กองทัพเรือจัดพิธีรับมอบเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี วันศุกร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๒
https://www.facebook.com/navalcivil/videos/935890010109962/

Clip: ธงราชนาวีขึ้นสู่ยอดเสา บนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ในพิธีรับมอบเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เข้าประจำการในกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/videos/2300718366910091/


โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงกระบี่ลำที่สอง เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ก็ก้าวเข้าสู่ก้าวย่างที่สำคัญที่สุดคือพิธีรับมอบเรือเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒(2019) ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ตามหลังก่อนหน้าที่ ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธี(https://aagth1.blogspot.com/2019/08/blog-post_3.html)

ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นฐานจากแบบเรือ 90m OPV ที่บริษัทอู่กรุงเทพได้ซื้อสิทธิบัตรจากบริษัท BAE System สหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับ ร.ล.กระบี่ เรือลำแรกของชุดเรือที่ถูกสร้างที่ อู่เรือราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะมีมิติขนาดใกล้เคียงกันแต่ก็มีความแตกต่าง
โดย ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ได้การปรับเปลี่ยนดาดฟ้ายกส่วนท้ายเรือพื้นขยายพื้นที่ลาดจอดเฮลิคอปเตอร์รองรับ ฮ.ขนาด 11.5tons เช่น เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ฮ.ปด.๑ Sikorsky SH-60B Seahawk กองการบินทหารเรือ ที่ได้มีการทดสอบการลงจอดบนเรือแล้ว

นอกจากอาวุธประจำเรือประกอบด้วย ปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62 Super Rapid Multifeed ๑กระบอก, ปืนใหญ่กล DS30MR 30mm ๒กระบอก และปืนกลหนัก M2 .50cal ๒กระบอกที่มีการทดสอบยิงระหว่างการทดลองเรือในทะเลไปแล้วนั้น
ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ยังเป็นเรือ ตกก.ลำแรกของกองทัพเรือไทยที่ได้รับเสริมความแข็งแรงดาฟ้ายกท้ายเรือเพื่อบูรณาการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น RGM-84L Harpoon Block II  แบบ Advanced Harpoon Weapon Control System จำนวน ๔ท่อยิงสองแท่นรวม ๘นัดด้วย

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ทั้งสองลำที่ได้สร้างเองในประเทศโดยฝีมือของคนไทยนี้เป็นการยืนยันถึงขีดความสามารถในการต่อเรือขนาดระวางกับน้ำกว่า 2,000tonnes ใกล้เคียงกับเรือฟริเกต ที่แสดงถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคงของไทยโดยกองทัพเรือไทยมาตลอด
ในอนาคตกองทัพเรือไทยน่าจะมีแผนการจัดหาเรือ ตกก.เพิ่มอีกราว ๒ลำเพื่อให้ครบความต้องการของ กองเรือตรวจอ่าว กตอ.ต้องการเรือ ตกก.ทั้งหมด ๖ลำ ตามที่มีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือปัตตานีแล้ว ๒ลำคือ ร.ล.ปัตตานี และ ร.ล.นราธิวาส และชุด ร.ล.กระบี่ ๒ลำล่าสุดครับ