วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2566

นิยาย: ยุคนภาอนธการกองทัพอากาศไทยในทศวรรษปี 2030s

Airframes of retired aircrafts (seen F-5 fighter and Fantrainer trainer) at near National Aviation Museum of The Royal Thai AirForce. (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=710207317256383&set=p.710207317256383)

Dark Sky era of Royal Thai Air Force in 2030s

นี่เป็นการคาดคะเนถึงอนาคตในรูปแบบนวนิยาย(fiction-novel) ของกองทัพอากาศไทยในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้าจากปี 2023 ไม่ใช่บทความทางวิชาการ ย้ำอีกครั้งนี่เป็นเพียงนิยายที่เกิดจากจินตนาการ ท่านที่เข้ามาอ่านไม่ควรนำนิยายไปใช้อ้างอิงในการทำงานหรือวัตถุประสงค์อื่นใดๆทั้งสิ้น
โดยมีพื้นฐานโครงเรื่องสมมุติว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างถูกต้องได้ดำเนินแผนตามนโยบายเพื่อทำการปฏิรูปกองทัพไทย(Royal Thai Armed Forces) และกระทรวงกลาโหมไทย(Ministry of Defense of Thailand) ในทุกด้าน
ตามความเหมาะสมของสภาพของเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ความมั่นคงในปัจจุบันที่ไทยมีนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งสงครามที่เป็นสิ่งไกลตัวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงโรคระบาดที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหา
ทำให้กองทัพบกไทย(RTA: Royal Thai Army) กองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) และกองทัพอากาศไทย(RTAF: Royal Thai Air Force) ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนโครงการสร้างและแผนนโยบายตามความต้องการของรัฐบาลและประชาชน

โดยรัฐบาลได้ปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลงเหลือเพียงร้อยละ ๐.๘ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อปี(0.8% per GDP: Gross Domestic Product) เฉลี่ยงบประมาณประจำปีละไม่เกินราว ๑๓๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐-๑๔๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐บาท($3.8-4.1 billion)
ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะเสนาธิการร่วม(Joint Chiefs of Staff)  ที่มีนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งเป็นประธานขึ้นมาแทนกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อลดอำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพ และผู้บังคับการหน่วยใช้กำลังต่างๆ
และมีคณะกรรมธิการกลาโหมที่มีสมาชิกประกอบด้วย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดนโยบายและตัดสินใจโครงการต่างๆของกองทัพ ซึ่งจะถูกส่งให้คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเรือนพิจารณาอนุมัติ และส่งเรื่องเข้ารัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกันลงมติเห็นชอบ
รวมถึงการออกกฎหมายพระราชบัญญัติรับราชการทหารใหม่ในปี 202X ที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารกองประจำการ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภายในกองทัพลดจำนวนนายทหารชั้นประทวนและชั้นสัญญาบัตรโดยเฉพาะนายพัน นาวา นาวาอากาศ และนายพลลงอย่างมาก

ทำให้ในส่วนกองทัพอากาศไทยเมื่อถึงต้นปี 2030s ได้รับงบประมาณในแต่ละปีที่เพียง ๑๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท($0.3 billion) และจำนวนกำลังพลประจำการกองทัพอากาศไทยลดลงจากประมาณ ๔๗,๐๐๐นาย เหลือเพียง ๒๘,๐๐๐นาย(เกือบทั้งหมดถูก 'ให้ออก' จากราชการโดยที่ไม่มีความผิด)
ส่งผลให้ในส่วนโครงสร้างกำลังการพัฒนากำลังรบของกองทัพอากาศไทยในอนาคตปี 2030s ถูกบีบบังคับตามข้อจำกัดในนโยบาย 'ทัพอากาศอย่างมีเหตุผลสมควร'(Reasonable Air Force) โดยคณะกรรมธิการกลาโหมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีภาพรวมคราวๆดังนี้

การจัดกำลังของกองทัพอากาศไทยในทศวรรษปี 2030s (Structure of Royal Thai Air Force 2030s)


กองบิน๑ โคราช
ฝูงบิน๑๐๑: ไม่มีอากาศยานประจำการ 
ฝูงบิน๑๐๒: ไม่มีอากาศยานประจำการ 
ฝูงบิน๑๐๓: ไม่มีอากาศยานประจำการ 
ถูกสั่งย้ายที่ตั้งจาก จังหวัดนครราชสีมา ไปที่อื่น

กองบิน๒ โคกกระเทียม
ฝูงบิน๒๐๑ รักษาพระองค์: เฮลิคอปเตอร์แบบที่๑๐ ฮ.๑๐ Sikorsky S-92A จำนวน ๕เครื่อง, เฮลิคอปเตอร์แบบที่๑๒ ฮ.๑๒ Sikorsky S-70i จำนวน ๕เครื่อง
ฝูงบิน๒๐๒: เฮลิคอปเตอร์แบบที่๑๓ ฮ.๑๓ Airbus H135 จำนวน ๖เครื่อง 
ฝูงบิน๒๐๓: เฮลิคอปเตอร์แบบที่๑๑ ฮ.๑๑ Airbus H225M (EC725) จำนวน ๑๒เครื่อง 

กองบิน๓ วัฒนานคร
ฝูงบิน๓๐๑: อากาศยานไร้คนขับ เครื่องบินไร้คนขับตรวจการณ์และฝึกแบบที่๑ บร.ตฝ.๑ RTAF U1
ฝูงบิน๓๐๒: อากาศยานไร้คนขับ เครื่องบินไร้คนขับตรวจการณ์แบบที่๑ บร.ต.๑ Aeronautics Aerostar-BP, อากาศยานไร้คนขับพิสัยกลาง Aeronautics Dominator XP

กองบิน๔ ตาคลี
ฝูงบิน๔๐๑: เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่๒ บ.ขฝ.๒  Korea Aerospace Industries (KAI) T-50TH Golden Eagle จำนวน ๑๔เครื่อง
ฝูงบิน๔๐๒: เครื่องบินตรวจการณ์และฝึกแบบที่๒๐ บ.ตฝ.๒๐ Diamond DA42 MMP/DA42 MNG จำนวน ๑๔เครื่อง
ฝูงบิน๔๐๓: เครื่องบินขับไล่แบบที่๑๙/ก บ.ข.๑๙/ก Lockheed Martin F-16AM/BM EMLU (Enhanced Mid-Life Upgrade) จำนวน ๑๘เครื่อง
ฝูงบิน๔๐๔: ไม่มีอากาศยานประจำการ 

กองบิน๕ ประจวบคีรีขันธ์
ฝูงบิน๕๐๑: ไม่มีอากาศยานประจำการ 

กองบิน๖ ดอนเมือง
ฝูงบิน๖๐๑: ไม่มีอากาศยานประจำการ 
ฝูงบิน๖๐๒ รักษาพระองค์: เครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๑๕ก บ.ล.๑๕ก Airbus A320-200ACJ จำนวน ๒เครื่อง 
ฝูงบิน๖๐๓: เครื่องบินลำเลียงแบบที่๑๖/ก บ.ล.๑๖ ATR 72-500 จำนวน ๓เครื่อง/บ.ล.๑๖ก ATR-72-600 จำนวน ๓เครื่อง
ฝูงบิน๖๐๔: ไม่มีอากาศยานประจำการ ยุบฝูงบิน
ถูกสั่งย้ายที่ตั้งจาก ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อากาศยานส่วนใหญ่ถูกย้ายกระจายไปตามท่าอากาศยานนานชาติต่างๆทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว

กองบิน๗ สุราษฎร์ธานี
ฝูงบิน๗๐๑: เครื่องบินขับไล่แบบที่๒๐/ก บ.ข.๒๐/ก Saab Gripen C/D จำนวน ๑๑เครื่อง
ฝูงบิน๗๐๒: เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศแบบที่๑ บ.ค.๑ Saab 340 ERIEYE AEW(Airborne Early Warning) จำนวน ๒เครื่อง และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๑๗ บ.ล.๑๗ SAAB 340B จำนวน ๔เครื่อง

กองบิน๒๑ อุบลราชธานี
ฝูงบิน๒๑๑: ไม่มีอากาศยานประจำการ 

กองบิน๒๓ อุดรธานี
ฝูงบิน๒๓๑: ไม่มีอากาศยานประจำการ 

กองบิน๔๑ เชียงใหม่
ฝูงบิน๔๑๑: เครื่องบินโจมตีและฝึกแบบที่๒๒ บ.จฝ.๒๒ Beechcraft AT-6TH Wolverine จำนวน ๘เครื่อง

กองบิน๔๖ พิษณุโลก
ฝูงบิน๔๖๑: ไม่มีอากาศยานประจำการ 

กองบิน๕๖
ฝูงบิน๕๖๑: ไม่มีอากาศยานประจำการ 

กองฝึกการบิน โรงเรียนการบิน​ กำแพงแสน
ฝูงฝึกขั้นต้น: เครื่องบินฝึกแบบที่๒๑ บ.ฝ.๒๑ Diamond DA40 NG จำนวน ๒๔เครื่อง
ฝูงฝึกขั้นปลาย: เครื่องบินฝึกแบบที่๒๒ บ.ฝ.๒๒ Beechcraft T-6TH Texan II จำนวน ๑๒เครื่อง,  เครื่องบินฝึกแบบที่๒๐ บ.ฝ.๒๐ Diamond DA42 TDI จำนวน ๑๒เครื่อง

หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
กรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์
กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์
กรมปฏิบัติการพิเศษ

ศูนย์ปฏิบัติการทาง​อวกาศกองทัพอากาศ​​
ถูกยุบเลิก

กองบัญชาการ​ควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ
ถูกยุบเลิก

ชะตากรรมของอากาศยานแต่ละแบบและหน่วยรบ(Fate of each type of aircrafts and combat units)


กองบิน๑
ตามที่ฝูงบิน๑๐๓ ปลดประจำการเครื่องบินขับไล่แบบที่๑๙/ก บ.ข.๑๙/ก Lockheed Martin F-16A/B Block 15 OCU และ บ.ข.๑๙/ก F-16A/B ADF ในปี 2028 หลังประจำการมามากกว่า ๔๐ปี โดยที่ยังคงรองบประมาณสำหรับการจัดหาเครื่องบินขับไล่ Lockheed Martin F-35A Lightning II
คณะกรรมาธิการกลาโหมได้รับฟังข้อร้องเรียนที่มีมายาวนานของชาวเมืองจังหวัดนครราชสีมาให้ กองบิน๑ ย้ายที่ตั้งออกไปจากตัวเมืองโคราช โดยที่หน่วยใช้กำลังทั้งหมดคือ ฝูงบิน๑๐๑ ฝูงบิน๑๐๒ และฝูงบิน๑๐๓ ไม่มีอากาศยานประจำการ(เท่ากับการยุบกองบิน๑ โดยพฤตินัย)
อย่างไรก็ตามจนถึงปี 2034 ตามแผนที่กองทัพอากาศไทยตั้งใจว่าจะมีเครื่องบินขับไล่ F-35A ครบหนึ่งฝูงบิน ๑๒เครื่อง กองทัพอากาศไทยก็ยังไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับการจัดหา F-35 และงบประมาณที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับย้ายที่ตั้งและสร้างกองบิน๑ ขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด

กองบิน๒
เฮลิคอปเตอร์ที่ประจำการในฝูงบิน๒๐๑ รักษาพระองค์ ถูกใช้ภารกิจขนส่งบุคคลสำคัญ ฝูงบิน๒๐๒ ถูกใช้ในภารกิจฝึกนักบินอากาศยานปีกหมุน ฝูงบิน๒๐๓ ถูกใช้ในภารกิจกู้ภัยและบรรเทาสาธารณภัย
โดยมีการวางกำลังหน่วยบินของฝูงบิน๒๐๓ พร้อมเฮลิคอปเตอร์แบบที่๑๑ ฮ.๑๑ EC725(H225M) ตามสนามบินสำคัญทั่วประเทศพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษของกรมปฏิบัติการพิเศษอากาศโยธิน เพื่อรองรับภารกิจต่างๆ เช่น การส่งผู้ป่วยทางอากาศ และการช่วยน้ำท่วมและไฟป่า
ฝูงบิน๒๐๒ ปลดประจำการเฮลิคอปเตอร์แบบที่๖ง ฮ.๖ง Bell 412EP ลงในปี 2036

กองบิน๓
คณะกรรมาธิการกลาโหมมีความชื่นชอบหลักนิยมการนำอากาศยานไร้รบคนขับ (UCAV: Unmanned Combat Aerial Vehicle) มาใช้ ตามแนวคิด "เดี๋ยวนี้เขารบกันด้วย Drone แล้ว" 
ตั้งแต่การให้แนวทางการพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับในประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จนถึงการพัฒนาอากาศยานไร้รบคนขับทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตี และทดแทนเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลาง
อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ได้รับและศักยภาพด้านวิทยาการที่มีสวนทางกับความเป็นไปได้ตามความเป็นจริงมาก ฝูงบิน๓๐๑ และฝูงบิน๓๐๒ จึงมีอากาศยานไร้คนขับประจำการเท่าที่ปรากฏ

กองบิน๔
ฝูงบิน๔๐๑ ได้รับมอบเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่๒ บ.ขฝ.๒ KAI T-50TH ๒เครื่องสุดท้ายครบ ๑๔เครื่องในปี 2024 กองทัพอากาศไทยมองที่จะเพิ่มขีดความสามารถการใช้อาวุธของ บ.ขฝ.๒ T-50TH เพื่อเป็นการคั่นระยะทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตีที่ปลดประจำการไปหลายแบบ
เช่น กระเปาะชี้เป้าหมาย Sniper ATP และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยกลาง AIM-120 ซึ่งคณะกรรมาธิการกลาโหมเห็นชอบและดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงปี 2026-2030 อย่างไรก็ตามการจัดหา บ.ขฝ.๒ T-50TH ฝูงที่สองเพิ่มเติมในฐานะเครื่องบินขับไล่โจมตีเบายังไม่ได้รับความเห็นชอบ

ฝูงบิน๔๐๓ เป็นฝูงบินเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๑๙/ก F-16AM/BM ฝูงสุดท้ายซึ่งมีแผนจะปลดประจำการในปี 2036-2040 แต่จากความล่าช้าในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35A สำหรับ บ.ข.๑๙/ก F-16A/B ของกองบิน๑ ที่ล่าช้ากว่าแผนในปี 2034 การทดแทนในส่วนฝูง๔๐๓ จึงล่าช้าตามไปด้วย

ฝูงบิน๔๐๔ ได้ย้ายเครื่องบินตรวจการณ์และลำเลียงแบบที่๒๐ บ.ตล.๒๐ P.180 AVANTI II EVO จากฝูงบิน๔๐๒ ไปฝูงบิน๖๐๔ ในปี 2019 ก่อนที่จะยุบฝูงบิน๖๐๔ ในปี 202Y และปลดประจำการ บ.ตล.๒๐ P.180 AVANTI II EVO เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตล้มละลาย ไม่เหมาะที่จะใช้งานต่อไป
อากาศยานไร้คนขับ(UAV: Unmanned Aerial Vehicle) ที่เคยประจำการในฝูงบิน๔๐๔ ทั้งหมดถูกย้ายไปกองบิน๓ ตามแผนปรับโครงสร้างกำลังรบใหม่ ทำให้ฝูงบิน๔๐๔ ไม่มีอากาศยานประจำการ

กองบิน๕
ฝูงบิน๕๐๑ ปลดประจำการเครื่องบินโจมตีและธุรการแบบที่๒ บ.จธ.๒ Fairchild AU-23A Peacemaker ในปี 2027 หลังประจำการมายาวนานถึง ๕๕ปี กองทัพอากาศไทยไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการกลาโหมในการดำเนินแผนจัดหาอากาศยานแบบใหม่มาทดแทน
รัฐบาลพลเรือนและคณะกรรมาธิการกลาโหมยังมีแนวคิดที่จะย้ายพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศมาที่กองบิน๕ เพราะมีพื้นที่กว้างขวางกว่าดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่และจัดงาน Airshow & Fleet Review นอกจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและพัทยาจังหวัดระยอง

กองบิน๖
ฝูงบิน๖๐๑ ปลดประจำการเครื่องบินลำเลียงแบบที่๘ บ.ล.๘ Lockheed Martin C-130H เครื่องสุดท้ายในปี 2032 หลังประจำการมามากกว่า ๕๐ปี กองทัพอากาศไทยและคณะกรรมาธิการกลาโหมอนุมัติให้มีการตั้งโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีใหม่มาทดแทนตั้งแต่ปี 2025 
แต่ก็มีความล่าช้าในการพิจารณาและถูกยกเลิกการแข่งขันและตั้งโครงการใหม่มาหลายครั้ง จากเหตุผลด้านงบประมาณไม่ตั้งไว้น้อยเกินไป จนถึงผู้เข้าแข่งขันถอนตัวจนหมดเพราะเงื่อนไขข้อกำหนดความต้องการไม่น่าดึงดูดใจพอ
เช่น ต้องสามารถปรับเปลี่ยนแบบเป็นเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศระบบ boom และ probe-and-drogue ได้ เป็นเครื่องบินดับเพลิงได้ ขณะที่ยังคงมีขีดความสามารถการบรรทุกทางยุทธวิธีที่เทียบเท่าหรือดีกว่า บ.ล.๘ C-130H รวมถึงการมีประตู ramp ท้ายเครื่องด้วย

ฝูงบิน๖๐๒ รอ. ปลดประจำการเครื่องบินลำเลียงแบบที่๑๑ บ.ล.๑๑ Boeing 737 เครื่องบินลำเลียงแบบที่๑๕ บ.ล.๑๕ Airbus A319-115CJ เครื่องบินลำเลียงแบบที่๑๙ บ.ล.๑๙ Airbus A340-500 

ฝูงบิน๖๐๓ ปลดประจำการเครื่องบินลำเลียงแบบที่๑๘ บ.ล.๑๘ Sukhoi Superjet 100LR แม้ว่าจะมีอายุการใช้งานไม่นาน แต่เนื่องจากรัสเซียประเทศผู้ผลิตถูกคว่ำบาตรจากประชาคมโลกจากการทำสงครามรุกรานยูเครนตั้งแต่ปี 2022 ทำให้การซ่อมบำรุงเป็นไปด้วความยากลำบาก
รัฐบาลพลเรือนและคณะกรรมาธิการกลาโหมมีมติเห็นชอบให้ปลดประจำการอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีแหล่งที่มาจากรัสเซียลงทั้งหมด ซึ่งกองทัพอากาศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะอากาศยานที่จัดหาจากรัสเซียมีเพียง บ.ล.๑๘ Sukhoi Superjet เท่านั้น

ฝูงบิน๖๐๔ ถูกยุบฝูงบินในปี 202Y ตามคณะกรรมาธิการกลาโหมมีความเห็นว่า "กองทัพอากาศไม่ควรมีหน้าที่ในการฝึกนักบินพลเรือนด้วยตนเอง" เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาด้านบินทั้งของรัฐบาลของเอกชน
เครื่องบินฝึกแบบที่๑๖ก บ.ฝ.๑๖ก Pacific Aerospace Corporation(PAC) CT-4A Airtrainer ถูกปลดประจำการในปี 2031 ขณะที่เครื่องบินฝึกแบบที่๒๑ บ.ฝ.๒๑ Diamond DA40 NG จำนวน ๘เครื่อง ถูกโอนย้ายไปที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน

ตามนโยบาย "ย้ายทหารออกจากกรุงเทพฯ" ของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง คณะกรรมาธิการกลาโหมได้สั่งการให้กองบิน๖ ย้ายที่ตั้งจาก ดอนเมือง กรุงเทพฯ ที่อยู่มามากกว่า ๑๐๐ปี "ไปที่อื่นที่เหมาะสม" ซึ่งมองไว้ที่ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
แต่การขาดงบประมาณสนับสนุนที่จำเป็นในการย้ายที่ตั้งและก่อสร้างสิ่งความอำนวยความสะดวก อากาศยานส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ในฝูงบิน๖๐๒ รอ. และ ฝูงบิน๖๐๓ ยังคงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง หรือท่าอากาศยานอื่นๆทั่วประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อเตรียมรอย้ายเข้าที่ตั้งใหม่

กองบิน๗
เครื่องบินขับไล่แบบที่๒๐/ก บ.ข.๒๐/ก Saab Gripen C/D ฝูงบิน๗๐๑ ได้รับการปรับปรุงความทันสมัยมาตรฐานชุดคำสั่ง MS20 และเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศแบบที่๑ บ.ค.๑ Saab 340 ERIEYE ได้รับการปรับปรุงความทันสมัยติด Radar ใหม่
แต่ไม่มีการจัดหาเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๒๐ Gripen เพิ่มเติมจากที่สูญเสียไปหนึ่งเครื่องในปี 2017 รวมถึงเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางใหม่ ๔เครื่องทดแทน บ.ล.๑๗ SAAB 340B ซึ่งเริ่มมีการงดบินเพื่อยืดอายุการใช้งานและรักษาความสมควรเดินอากาศ

กองบิน๒๑
ฝูงบิน๒๑๑ ปลดประจำการเครื่องบินขับไล่แบบที่๑๘ข/ค บ.ข.๑๘ข/ค Northorp F-5/F TH Super Tigris เครื่องสุดท้ายในปี 2029 กองบิน๒๑ ถูกปรับเป็นฐานบินส่วนหน้าที่ไม่มีอากาศยานประจำถาวรเช่นเดียวกับกองบิน๕๖
ซึ่งสอดคล้องกับข้อร้องเรียนของชาวเมืองอุบลราชธานีที่ได้รับความเดือนร้อนจากเสียงรบกวนที่มาจากอากาศยาน ซึ่งคณะกรรมาธิการกลาโหมออกแนวทางกำกับว่าถ้าจะจัดหาอากาศยานมาประจำที่กองบิน๒๑ ใหม่ ก็ต้องหาที่ตั้งใหม่ให้ได้ก่อน(แต่ไม่มีงบประมาณให้)

กองบิน๒๓
ฝูงบิน๒๓๑ ปลดประจำการเครื่องบินโจมตีแบบที่๗ บ.จ.๗ Dornier Alpha Jet TH เครื่องสุดท้ายในปี 2030 กองบิน๒๓ ถูกปรับเป็นฐานบินส่วนหน้าที่ไม่มีอากาศยานประจำถาวรเช่นเดียวกับกองบิน๕๖
ซึ่งสอดคล้องกับข้อร้องเรียนของชาวเมืองอุดรธานีที่ได้รับความเดือนร้อนจากเสียงรบกวนที่มาจากอากาศยาน ซึ่งคณะกรรมาธิการกลาโหมออกแนวทางกำกับว่าถ้าจะจัดหาอากาศยานมาประจำที่กองบิน๒๓ ใหม่ ก็ต้องหาที่ตั้งใหม่ให้ได้ก่อน(ซึ่งก็ไม่มีงบประมาณให้)
การฝึก Falcon Strike ระหว่างกองทัพอากาศไทยกับกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีน(PLAAF: People's Liberation Army Air Force) ที่กองบิน๒๓ ยังถูกยกเลิกในปี 202Z เป็นต้นไป จากการปรับลดความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีนของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

กองบิน๔๑
ฝูงบิน๔๑๑ ได้รับมอบเครื่องบินโจมตีและฝึกแบบที่๒๒ บ.จฝ.๒๒ Beechcraft AT-6TH Wolverine(AT-6E) ครบ ๘เครื่องในปี 2025 โดยที่ไม่มีการจัดหาระยะที่๒ เพิ่มอีก ๔เครื่อง และเป็นโครงการจัดหาอากาศยานรบ(combat aircraft)ครั้งสุดท้ายของกองทัพอากาศไทยในห้วงทศวรรษปี 2020s

กองบิน๔๖
ฝูงบิน๔๖๑ ปลดประจำการเครื่องบินลำเลียงแบบที่๒ก บ.ล.๒ก Basler BT-67 ในปี 2029 กองทัพอากาศไทยมีแผนที่จะจัดหาเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางจำนวน ๔เครื่องเพื่อทดแทน แต่คณะกรรมาธิการกลาโหมไม่อนุมัติเพราะมองว่าซ้ำซ้อนกับโครงการทดแทน บ.ล.๘ C-130H

กองฝึกการบิน โรงเรียนการบิน
ฝูงฝึกขั้นต้นปลดประจำการเครื่องบินฝึกแบบที่๑๖ก บ.ฝ.๑๖ก CT-4A Airtrainer เครื่องสุดท้ายในปี 2031 โดยได้รับมอบเครื่องบินฝึกแบบที่๒๑ บ.ฝ.๒๑ DA40 NG จำนวน ๘เครื่องจากฝูงบิน๖๐๔ ที่ถูกยุบฝูง และจัดหาเพิ่มจนครบ ๒๔เครื่อง
ฝูงฝึกขั้นปลายปลดประจำการเครื่องบินฝึกแบบที่๑๙ บ.ฝ.๑๙ Pilatus PC-9 Mustang เครื่องสุดท้ายในปี 2023 โดยได้รับมอบเครื่องบินฝึกแบบที่๒๒ บ.ฝ.๒๒ Beechcraft T-6TH(T-6C) Texan II จำนวน ๑๒เครื่องครบในปีเดียวกัน
เครื่องบินฝึกแบบที่๒๐ บ.ฝ.๒๐ DA42 TDI ถูกโอนย้ายจากฝูงบิน๖๐๔ หลังถูกยุบฝูงบิน ไปรวมกับ ฝูงฝึกขั้นปลาย กองฝึกการบิน โรงเรียนการบิน และจัดหาเพิ่มจนครบ ๑๒เครื่อง

หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
เนื่องจากการยกเลิกการมีทหารกองประจำการ(การเกณฑ์ทหาร) กองพันทหารอากาศโยธินประจำการฐานบิน ทั้งในส่วนกองร้อยทหารราบและทหารต่อสู้อากาศยานอยู่ในสภาพ "กองพันโครง" คือมีอัตราจัดโครงสร้างแต่ไม่มีกำลังพลประจำหน่วย เนื่องจากขาดแคลนคน(พลทหาร) และงบประมาณ
อาวุธยุทโธปกรณ์หลายอย่างเช่น ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน Type 74 ขนาด 37mm ปืนใหญ่ต่อสู่อากาศยาน Type 59 ขนาด 57mm และอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ KS-1C ถูกปลดประจำการเนื่องจากคณะกรรมาธิการกลาโหมพิจารณาว่าเก่าและล้าสมัยไม่คุ้มค่าการลงทุนใช้งานต่อไป

"มันเปลี่ยนไปจากเมื่อราว ๒๐ปีที่แล้วค่อนข้างมาก ตอนนี้การรักษาความปลอดภัยของที่นั่น(กองบินหนึ่งทางภาคใต้ของไทย)ขึ้นอยู่กับสารวัตรทหารจำนวนไม่กี่นาย...ทำให้เสี่ยงต่อการถูกก่อวินาศกรรม หรือไม่สามารถต่อต้านการโจมตีทางอากาศได้ หากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น"
เจ้าหน้าที่บริษัท Saab สวีเดนที่ไม่เปิดเผยชื่อที่เป็นผู้ให้บริการสนับสนุนระบบของบริษัทตนแก่กองทัพอากาศไทยให้ความเห็นกับสื่อ ต่อคำถามเกี่ยวกับการที่บริษัท Saab ไม่ได้รับสัญญาจัดหาหลักใหม่ใดๆจากกองทัพไทยเลยเป็นเวลาหลายสิบปี

กรมปฏิบัติการพิเศษ ค่อนข้างได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยมีวางกำลังผูกกับหน่วยบินสนามของฝูงบิน๒๐๓ (ฮ.๑๑ EC725) ในสนามบินสำคัญ และถูกปรับภารกิจหลักคือการกู้ภัยทางอากาศเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามสถานการณ์ต่างๆ 
เช่น ภารกิจบรรเทาภัยพิบัติอย่างไฟป่า น้ำท่วม  และการส่งผู้ป่วยทางอากาศ มากกว่าภารกิจทางทหารรวมถึงการค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบ CSAR(Combat Search and Rescue) ชุดควบคุมการรบ CCT(Combat Control Team) และการต่อต้านการก่อการร้าย(Counter Terrorism)

ศูนย์ปฏิบัติการทาง​อวกาศกองทัพอากาศ​​
ถูกยุบเลิกเนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมาธิการกลาโหมพิจารณาว่าหน้าที่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. GISTDA(Geo-Informatics and Space Technology Development Agency) (Public Organization)
"ประเทศนี้ยังไม่สมควรจะพูดถึงสงครามในอวกาศ ตราบใดที่ยังมีถนนดินลูกรังอยู่" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นพลเรือนที่ดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการกลาโหมที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับสื่อ

กองบัญชาการ​ควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ
ถูกยุบเลิกและมีการปรับโครงสร้างไปบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะเสนาธิการร่วม กองทัพไทย เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินการปฏิบัติการใช้กำลังรบทั้งสามเหล่าทัพร่วมกัน โดยมีนายกรัฐมนตรี(พลเรือนมาจากการเลือกตั้ง)เป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจสั่งการสูงสุด