วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568

ศาลาโกหก: เครื่องบินโจมตีแบบที่๙ บ.จ.๙ A-10C ฝูงบิน๑๐๑ กองบิน๑ กองทัพอากาศไทย

เครื่องบินโจมตีแบบที่ ๙ บ.จ.๙ Fairchild Republic A-10C Thunderbolt II ฝูงบิน ๑๐๑ กองบิน ๑ กองทัพอากาศไทย

ประเภท: เครื่องบินโจมตี ๑ ที่นั่ง
บริษัทสร้าง: Fairchild Republic ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปีกยาว: ๕๗ ฟุต ๖ นิ้ว
สูง: ๑๔ ฟุต ๘ นิ้ว
ลำตัวยาว: ๕๓ ฟุต ๔ นิ้ว
เครื่องยนต์: turbofan General Electric TF34-GE-100A สองเครื่อง
แรงขับ (สูงสุด): เครื่องละ ๙,๐๖๕ ปอนด์
ความเร็วสูงสุด: ๓๘๑ นอต (๗๐๖ กม./ชม.)
น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด: ๔๖,๐๐๐ ปอนด์
เพดานบิน: ๔๕,๐๐๐ ฟุต
พิสัยบิน: ๒,๒๔๐ ไมล์ทะเล
ระบบอาวุธ:
ปืนกลอากาศ GAU-8/A ขนาด 30 มม.
อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ AIM-9M 
อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น AGM-65
ระเบิดอเนกประสงค์ Mk-82/Mk-84 ขนาด 500/2,000 ปอนด์
ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ GBU-12/GBU-10 ขนาด 500/2,000 ปอนด์
จรวดอากาศสู่พื้น Hydra 70 ขนาด 2.75 นิ้ว
อุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติม: กระเปาะชี้เป้าหมาย AN/AAQ-33 Sniper Advanced Targeting Pod (ATP)

กองทัพอากาศไทยได้แสดงความสนใจเครื่องบินโจมตี A-10 Thunderbolt II ครั้งแรกในการส่งนายทหารไปประเมินค่าอากาศยานหลายแบบที่สหรัฐฯ ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ในการทดแทนเครื่องบินโจมตีและฝึกแบบที่ ๑๓ บ.จฝ.๑๓ T-28D Trojan เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรถถังจำนวนมากของกองกำลังต่างชาติที่วางกำลังใกล้ชายแดนไทยในเวลานั้น ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นลูกค้าส่งออกรายแรกสำหรับเครื่องบินโจมตี A-10A สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศไทยได้ให้ความสำคัญการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๙/ก บ.ข.๑๙/ก F-16A/B Fighting Falcon มากกว่า โดยมีการอนุมัติการจัดหาชุดแรกจำนวน ๑๒ เครื่อง ภายใต้โครงการ Peace Naresuan I ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ รับมอบบรรจุเข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ตามมาอีก ๖ เครื่อง ภายใต้โครงการ Peace Naresuan II ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ และรับมอบในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ในฝูงบิน ๑๐๓ กองบิน ๑ โคราช
ต่อมาในความต้องการทดแทนเครื่องฝึกแบบที่ ๑๑ บ.ฝ.๑๑ T-33A Shooting Star และเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๖ บ.จ.๖ A-37B Dragonfly กองทัพอากาศไทยได้เลือกจัดหา บ.ข.๑๙/ก F-16A/B เพิ่ม ๑๘ เครื่อง ภายใต้โครงการ Peace Naresuan III ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ และรับมอบในปี พ.ศ.๒๕๓๘ และเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ ๑ บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART จำนวน ๓๖เครื่อง ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ รับมอบในปี พ.ศ.๒๕๓๗
เวลาล่วงมาถึงความต้องการทดแทนเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๕ บ.จ.๕ OV-10C Bronco เดิมกองทัพอากาศไทยมองที่จะจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๗ บ.จ.๗ Alpha Jet จำนวน ๕๐ เครื่องจากเยอรมนี แต่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้อนุมัติเพียงครึ่งหนึ่งคือ ๒๕ เครื่อง (ใช้งาน ๒๐ เครื่อง อะไหล่ ๕ เครื่อง) ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ และได้รับมอบในปี พ.ศ.๒๕๔๓ บรรจุเข้าประจำการในฝูงบิน ๒๓๑ กองบิน ๒๓ อุดรธานี

เมื่อกองทัพอากาศไทยปลดประจำการ บ.จ.๕ OV-10C ของฝูงบิน ๔๑๑ กองบิน๔๑ เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ได้มีการโอนย้าย บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART ที่ยังเหลืออยู่จากฝูงบิน ๑๐๑ และฝูงบิน ๑๐๒ กองบิน ๑ โคราช ที่ได้รับมอบ บ.ข.๑๙/ก F-16A/B ADF จำนวน ๑๖ เครื่อง ภายใต้โครงการ Peace Naresuan IV ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ไปยังที่ฝูงบิน ๔๐๑ กองบิน ๔ ตาคลี และฝูงบิน ๔๑๑ ที่ต่อมาปลดประจำการในปี พ.ศ.๒๕๖๔
กองทัพอากาศไทยจึงมีความต้องการที่จะจัดหาเครื่องบินโจมตีอีกหนึ่งฝูงบินเพื่อนำบรรจุเข้าประจำการในฝูงบิน ๑๐๑ กองบิน ๑ ที่ขณะนั้นไม่มีอากาศยานประจำการ โดยเลือกจัดหาเครื่องบินโจมตี A-10A ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ เก็บสำรองไว้ จำนวน ๑๔ เครื่อง (ใช้งาน ๑๒ เครื่อง อะไหล่ ๒ เครื่อง) ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ภายใต้ความช่วยเหลือทางทหารในการจัดซื้อรูปแบบ Excess Defense Article (EDA) จากรัฐบาลสหรัฐฯ
ต่อมากองทัพอากาศไทยได้รับคำแนะนำจากสหรัฐฯ ในการนำเครื่องบินโจมตี A-10A ที่จะจัดหาเข้ารับความปรับปรุงความทันสมัยเป็นมาตรฐานเครื่องบินโจมตี A-10C พร้อมกับการปรับปรุงความทันสมัย บ.ข.๑๙/ก F-16AM/BM EMLU ฝูงบิน ๔๐๓ กองบิน ๔ ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๕๖ และส่งมอบบรรจุเข้าประจำการในฝูงบิน ๑๐๑ กองบิน ๑ ในปี พ.ศ.๒๕๕๗ โดยกำหนดแบบเป็น เครื่องบินโจมตีแบบที่ ๙ บ.จ.๙ A-10C
บ.จ.๙ A-10C เป็นเครื่องบินโจมตีที่มีประสิทธิภาพสูงมาก โดยสามารถใช้อาวุธและอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่มีใช้งานกับเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๑๙/ก F-16AM/BM EMLU ได้เช่น ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ Paveway II และ LIZARD III และกระเปาะชี้เป้าหมาย Sniper ATP ยกเว้นปืนกลอากาศขนาด ๓๐ มม. (ไม่ได้จัดหากระสุนแกนยูเรเนียมไร้รังสี) การเปลี่ยนโครงสร้างปีกใหม่ยังจะทำให้ยืดอายุการใช้งานไปได้อีกไม่ต่ำกว่า ๒๐ปีด้วย