Royal Thai Navy Exercise 2019 conduct at Phangnga, Andaman Sea,Thailand include domestic stealth Sea Mine donate explosion, Royal Thai Marine Corps landing with AAV7A1 from LPD-791 HTMS Angthong
and QW-18 Man-portable air-defense systems (MANPADS) and Royal Thai Naval Air and Coastal Defence's Field Artillery GHN-45 155mm and Anti-Aircraft Artillery Type 74 twin 37mm, 7 April 2019.
กองทัพเรือ ประสบความสำเร็จในการผลิตทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน (Mi9) ผ่านการทดสอบในการฝึกภาคสนามภาคทะเล การฝึกกองทัพเรือประจำปี 2562
วันนี้ (7 เมษายน 2562 ) เวลา 09.30 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะ ประกอบด้วย พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2562
พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน เสนาธิการทหารเรือ พลเรือเอก นภดล สุภากร ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือโท ไกรศรี เกษร รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ พลเรือโท สิทธิพร มาศเกษม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3
ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2562 บริเวณหาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
โดยมี พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันทน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พลเรือตรี วราห์ แทนขำ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และ พลเรือตรี เทวินทร์ ศิลปชัย ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ
การฝึกในวันนี้เริ่มด้วยการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง(สอ.รฝ.)
โดยหน่วยยิงกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 ได้ทำการฝึกยิงเป้าอากาศยาน หน่วยยิงกองพันรักษาฝั่งที่ 11 ฝึกยิงเป้าพื้นน้ำ และหน่วยยิงกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 และ กองพันปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กองพลนาวิกโยธิน ได้ทำการยิงอาวุธปล่อยประทับบ่าแบบ QW – 18 ตามลำดับ
จากนั้น กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ฝึกการวางและทดสอบกลไกการทำงานโดยอัตโนมัติของทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน(Mi9) จำนวน 2 ลูก
และเข้าสู่การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก พร้อมส่งกำลังรบยกพลขึนบกขึ้นสู่ฝั่งเพื่อคลี่คลาย สถานการณ์ความขัดแย้งบนบกตามลำดับ ตามแนวคิดจากทะเลสู่ฝั่ง (From The Sea)
โดยผลการฝึกทดสอบต่าง ๆ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ทุกลำดับการฝึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุ่นระเบิด MI9 ที่กองทัพเรือ ทำการวิจัย และผลิตได้เอง
สามารถทำงานจุดระเบิดต่อเป้าแปลกปลอมใต้น้ำ/ผิวน้ำที่ลักลอบผ่านเข้าในสนามทุ่นระเบิดได้โดยอัตโนมัติ กลไกการจุดระเบิดทำงานได้อย่างสมบูรณ์ จึงนับว่าได้ผ่านการทดสอบอีกครั้งนับจากประสบความสำเร็จอย่างดีในการทดสอบที่ฝั่งอ่าวไทยในปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้กองทัพเรือ มีอาวุธที่มีอานุภาพสูงสำหรับการป้องกันประเทศทางทะเล ที่ผลิตได้เอง ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติ นำมาซึ่งความมั่นใจและภาคภูมิใจของกองทัพเรือ
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือเป็นประจำทุกปี เพื่อบูรณาการการฝึกภายในกองทัพเรือ ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาต่าง ๆ
การปฏิบัติและการสนับสนุนของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์การฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน
โดยการฝึกในปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ทดสอบการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ของกองทัพเรือ และทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ
1) เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร
2) เพื่อทดสอบแนวทางการใช้กำลัง และการอำนวยการยุทธ์ ตามคำสั่งยุทธการที่ใช้ในการฝึก ในสถานการณ์ภาวะความขัดแย้งระดับปานกลางถึงระดับสูง
3) เพื่อทดสอบขีดความสามารถการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ
กองทัพเรือได้อนุมัติให้จัดการฝึกกองทัพเรือนี้ ตามวงรอบการฝึก 2 ปี โดยใช้สถานการณ์ฝึกต่อเนื่อง ซึ่งในปีแรก (2561) ได้ทำการฝึกสถานการณ์ในภาวะปกติจนถึงภาวะความขัดแย้งระดับต่ำหรือขั้นการเตรียมการก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติเรียบร้อยไปแล้ว
และการฝึกในปีนี้ได้ทำการฝึกสถานการณ์ภาวะความขัดแย้งระดับปานกลาง ถึงความขัดแย้งระดับสูง ทำการฝึกภาคปฏิบัติในลักษณะบูรณาการ ด้วยการสนธิกำลังระหว่างหน่วยทำการฝึกโดยใช้สถานการณ์ฝึกเดียวกัน เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ
ขั้นการฝึกที่สำคัญในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2562 ประกอบด้วย
1. การฝึกปัญหาที่บังคับการ ซึ่งเป็นการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ การฝึกทดสอบการตัดสินใจ ตามกระบวนการวางแผนทางทหาร และทดสอบการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการการฝึก
โดยได้ทำการฝึก ระหว่างวันที่ 11 - 28 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการฝึกสถานการณ์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง
2. การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล จะเป็นการฝึกภาคปฏิบัติในลักษณะบูรณาการ ด้วยการสนธิกำลังระหว่างหน่วยทำการฝึก โดยใช้สถานการณ์ฝึกเดียวกัน เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ
และที่สำคัญจะได้มีการบูรณาการการฝึกร่วมกับกำลังของกองทัพบกและกองทัพอากาศด้วย ทำการฝึกระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 17 เมษายน และระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤษภาคม 2562 ในพื้นที่ทั้งด้านอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีหัวข้อการฝึกที่สำคัญ ดังนี้
2.1 การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยานของกองทัพอากาศ ในพื้นที่บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของจังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 4 - 7 เมษายน 2562
2.2 การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี C-802A ในวันที่ 5 เมษายน 2562
2.3 การฝึกวางและจุดทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน และการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ในวันที่ 7 เมษายน 2562
2.4 การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ซึ่งจะมีการฝึกปฏิบัติการร่วมของกองกำลังนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กำลังของกองทัพบก และกำลังของกองทัพอากาศ
บริเวณสนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤษภาคม 2562
ในการนี้ กองทัพเรือได้จัดกำลังพลจากหน่วยต่าง ๆ อาวุธ และยุทโธปกรณ์ที่สำคัญเข้าร่วมการฝึกในสถานการณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย
กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงนราธิวาส เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงราชฤทธิ์ เรือหลวงล่องลม
เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงถลาง เรือหลวงลาดหญ้า เรือหลวงท่าดินแดง เรือหลวงแหลมสิงห์ เรือหลวงมันใน อากาศนาวี ยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก กำลังรบจากกองทัพบกและอากาศยานจากกองทัพอากาศ
ทั้งนี้ การฝึกกองทัพเรือ ถือเป็นนโยบาย ที่ผู้บัญชาการทหารเรือให้ความสำคัญ เพื่อให้กำลังพลทุกระดับ และทุกหน่วยรบ มีความพร้อมสูงสุด ให้กองทัพเรือสามารถ รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้ ตั้งแต่สถานการณ์ปกติจนถึงสถานการณ์วิกฤตขั้นสูงสุด
ส่งผลให้กำลังพลและยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือมีความพร้อมและมีขีดความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่าชาติใดในภูมิภาค นำไปสู่การบรรลุตามวิสัยทัศน์ กองทัพเรือที่ว่า
"เป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาค และเป็นเลิศในการบริหารจัดการ" สามารถส่งมอบคุณค่าให้กับประชาชนและสังคม "เป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ"
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/2375980402453302
Clip: LAND THE LANDING FORCE Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy at Phangnga, Andaman Sea,Thailand
หมวดเรือยกพลขึ้นบกฝั่งอันดามัน ฝึกกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ 62
https://www.facebook.com/RoyalThaiNavyFanpage/videos/415999038979326/
Clip: Mi-9 Stealth Sea Mine domestic developed by Royal Thai Navy
https://www.facebook.com/prthainavy/videos/2210570399027236/
ความสำเร็จของการฝึกจุดระเบิดทุ่นระเบิด Mi9 จำนวน 2 ลูก ณ พื้นที่ ทัพเรือภาคที่ 3 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ ที่มีการจุดระเบิดทุ่นระเบิดจริงในฝั่งทะเลอันดามัน
โดย ทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน Mi9 เป็นทุ่นระเบิดที่ กองทัพเรือ ผลิตมาใช้เองและสำรองคลัง ซึ่งทุ่นระเบิดฯ Mi9 นี้ มีต้นแบบจากโครงการวิจัยและพัฒนาทางทหารกองทัพเรือ
ซึ่งมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นนายทหารโครงการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ
ทั้งนี้พื้นที่ที่ใช้ในการฝึกเป็นพื้นที่ที่กองทัพเรือได้สงวนไว้ดำเนินการฝึกเป็นประจำทุกปี โดยได้มีการศึกษาสภาพแวดล้อมแล้วไม่มีผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลแต่อย่างใด
ความสำเร็จของการฝึกจุดทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน (Mi 9) เป็นผลมาจากความร่วมมือและความตั้งใจของทุกหน่วย วันนี้ 7 เมษายน 2562 เราก้าวไปอีกขั้นและจะพัฒนาต่อไปไม่สิ้นสุด
https://www.facebook.com/MineSquadron/posts/2296389487274378
การฝึกกองทัพเรือประจำปี พ.ศ.๒๕๖๒(2019) ในปีนี้มีการสมมุติสถานการณ์ฝึกในระดับความขัดแย้งระดับปานกลางถึงระดับสูง เป็นการฝึกต่อเนื่องการฝึกประจำปี ๒๕๖๑(2018) ที่เป็นการฝึกในภาวะความขัดแย้งระดับต่ำหรือขั้นขั้นเตรียมการ
การฝึกสำคัญในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๒ คือการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำ C-802A จากเรือฟริเกตเรือหลวงกระบุรี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อเป้าหมายในทะเลอันดามันที่มีระยิงไกลถึง 100km(https://aagth1.blogspot.com/2019/04/c-802a.html)
การฝึกที่สำคัญในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ ประกอบด้วยการฝึกการจุดทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน Mi-9 ที่เป็นทุ่นระเบิดที่กองทัพเรือไทยพัฒนาเอง ซึ่งมีการพัฒนาต้นแบบและทดสอบมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐(2017)(https://aagth1.blogspot.com/2017/05/blog-post_7.html)
ทุ่นระเบิดนั้นเป็นอาวุธที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางทะเลในการปฏิเสธ ปิดล้อม หรือจำกัดการใช้ทะเลของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทุ่นระเบิด Mi19 นี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการต่อต้านหรือจำกัดปฏิบัติการของเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามในเขตน่านน้ำไทย ขณะที่กองทัพเรือไทยยังไม่ได้รับมอบเรือดำน้ำ
การฝึกที่สำคัญอื่นๆเมื่อ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ ยังมีการฝึกยกพลขึ้นบกของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ประกอบด้วยรถสะเทินน้ำสะเทินบก AAV7A1 และกำลังทหาราบนาวิกโยธิน รวมถึงการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศประทับบ่า QW-18
หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ได้ฝึกยิงปืนใหญ่สนามลากจูง ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง GHN-45 ขนาด 155mm และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน Type 74 ขนาด 37mm แฝดสอง ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่ นย. และ สอ.รฝ. จะมีการฝึกประกอบกำลังขนาดใหญ่ในฝั่งทะเลอันดามันครับ