วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กองทัพเรือไทยทำพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.114 สองลำลงน้ำ

Royal Thai Navy was formal launching ceremony of new 2 Coastal Patrol Craft T.114-class (T.114 and T.115) from Marsun Thailand, 31 July 2020.

กองทัพเรือจัดพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และ เรือ ต.115 ลงน้ำ



วันนี้ (31 กรกฎาคม 2563) เวลา 14.29 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และเรือ ต.115 จำนวน 2 ลำ ลงน้ำ 
โดยมี นาวาเอกหญิง อุบลวรรณ รุดดิษฐ์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ในฐานะภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ


กองทัพเรือ มีความต้องการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ จากอู่เรือภายในประเทศโดยใช้แบบ เรือ ต.111 เป็นแบบพื้นฐานสำหรับการจัดหา โดยปรับปรุงหรือพัฒนาระบบและส่วนประกอบให้สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางด้านยุทธการที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้มีขีดความสามารถ
- การถวายความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
- การลาดตระเวนตรวจการณ์
- การคุ้มครองเรือประมงและเรือสินค้า
- การป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ
- การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล
- การรักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ
- การบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือประชาชนในทะเลและชายฝั่ง


โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปีงบประมาณ 2561 - 2563 โดยได้ว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ 
โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และ เรือ ต.115 จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ต่อไป


ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) ของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง เรือ ต.114 และเรือ ต.115
- สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
- ระบบตรวจการณ์ของเรือสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ หยุดยั้ง ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้ ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ
- ปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน
- ปฏิบัติงานได้สภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) เรือมีการทรงตัวและความคงทนทะเลที่ดี และ ยังสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ได้


คุณลักษณะทั่วไป
- มีความยาวตลอดลำ 36.00 เมตร
- ความกว้างของเรือ 7.60 เมตร
- ความลึกของเรือ 3.60 เมตร
- กินน้ำลึกตัวเรือ ไม่เกิน 1.75 เมตร
- ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า 27.0 นอต
- ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 1,200 ไมล์ทะเล
- กำลังพลประจำเรือตามอัตรา 30+1+13 (ชปพ.นสร.) 44 นาย
- เครื่องจักร ที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร CUMMINS 1,342KW (1,800bhp) 1,900rpm จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องกำหนดไฟฟ้า ขนาด 112KWe 380VAC, 3PH, 50HZ จำนวน 2 เครื่อง


อาวุธประจำเรือ
- อาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 30 มม. ติดตั้งบริเวณหัวเรือ จำนวน 1 แท่น
- อาวุธรอง ปืนกลขนาด 50 นิ้ว ติดตั้งบริเวณกราบเรือซ้ายขวา จำนวน 2 แท่น


พิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แบบสากลให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี 
โดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ การนี้ สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน 
คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีได้รับบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ 
จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 
ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดย กรมอู่ทหารเรือที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) 
ซึ่งมี คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ



พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๑๑๔ จำนวน ๒ลำลงน้ำประกอบด้วย เรือ ต.114 และเรือ ต.115 เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓(2020) ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน)(Marsun Public Company Limited) ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
เป็นความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนับตั้งแต่ที่ทำพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑(2018) ณ อู่เรือบริษัท Marsun โดยมีพลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธาน(https://aagth1.blogspot.com/2018/06/114.html)

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๑๑๔ ใช้พื้นฐานแบบเรือ M36 Mk II ของบริษัท Marsun ซึ่งปรับปรุงจากแบบเรือ M36 Patrol Boat ที่ใช้เป็นพื้นฐานของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.111 หรือเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชุดเรือ ต.111
โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.111 ที่เข้าประจำการก่อนหน้าแล้วจำนวน ๓ลำ ประกอบด้วยเรือ ต.111, ต.112 และ ต.113 นั้นก็เป็นหนึ่งในผลงานของบริษัท Marsun ประเทศไทย ที่ได้รับสัญญาจ้างสร้างเรือให้กับกองทัพเรือไทยเช่นกัน

เรือ ตกฝ.ชุดเรือ ต.๑๑๔ ใหม่ ๒ลำได้รับการปรับปรุงแตกต่างจากเรือ ตกฝ.ชุดเรือ ต.๑๑๑ จำนวน ๓ลำก่อนหน้าโดยใช้อาวุธปืนหลักปืนกลขนาด 30mm(น่าจะเป็น MSI-DS SEAHAWK) พร้อมระบบควบคุมการยิงแทนปืนกล Denel Land Systems GI-2 ขนาด 20mm แบบควบคุมด้วยมือ
รวมถึงพื้นที่ห้องภายในตัวเรือรองรับชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ(Naval Special Warfare Command, Royal Thai Navy SEAL) จำนวน ๑๓นาย ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบสูง

เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๑๑๔ ทั้ง ๒ลำใหม่คือเรือ ต.114 และเรือ ต.115 คาดว่าจะมีพิธีรับมอบเรือภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓ และจะเข้าประจำการใน กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ(Coast Guard Squadron, Royal Thai Fleet) เช่นเดียวกับชุดเรือ ต.111 จำนวน ๓ลำก่อนหน้า
ทั้งนี้อู่เรือบริษัท Marsun ยังอยู่ระหว่างการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 ใหม่จำนวน ๒ลำคือ เรือ ต.997 และเรือ ต.998 ที่ทำพิธีวางกระดูงูเรือเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒(2019) ครับ(https://aagth1.blogspot.com/2019/11/997-998.html)