วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กองทัพเรือไทยมีแผนปรับปรุงเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา ๒ลำ


Royal Thai Navy's FFG-555 HTMS Chao Phraya, the Chao Phraya-class guided missile frigate.


Royal Thai Navy's FFG-556 HTMS Bangpakong, the Chao Phraya-class guided missile frigate with C-801 anti-ship missiles.







การปรับปรุงใหม่ให้กับ ร.ล.เจ้าพระยา และ ร.ล. บางปะกง 
....ร.ล. เจ้าพระยา (หมายเลข 455) และร.ล. บางปะกง(หมายเลข 456) ซึ่งสั่งต่อจากจีน ประจำการในกองทัพเรือไทยเมื่อปี พ.ศ. 2534 ปัจจุบันก็มีอายุ 29 ปีแล้ว ยังเหลืออายุการใช้งานอีก 11 ปี และยังเป็นเขี้ยวเล็บที่สำคัญทางทะเลของกองเรือยุทธการ 
กองเรือฟริเกตที่ 2 จึงมีแนวความคิดที่จะปรับปรุงเรือชุดร.ล.เจ้าพระยา ทั้ง 2 ลำนี้ ให้เป็นกำลังรบหลักที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการลักษณะเดียวกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามและภารกิจอื่นๆในปัจจุบัน
โดยจะมีการปรับปรุงโดยเปลี่ยนปืนหัวเรือจาก 100 มม. เป็นปืน 76/62 ออโตเมลารา ที่มีความทันสมัยกว่า เปลี่ยนปืน 37 มม. ทั้ง 4 แท่น เป็นปืน 30 มม. ที่มีอัตราการยิงความเร็วสูงขึ้นและความแม่นยำมากขึ้น 
เปลี่ยนระบบอำนวยการรบและระบบตรวจการณ์ที่สามารถค้นหาและพิสูจน์เป้าหมายพื้นน้ำและอากาศยานได้ดีกว่าเดิม สามารถควบคุมระบบอาวุธปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี (Tacical Data Link) ที่สามารถเชื่อมต่อเรือรบหลักลำอื่นๆได้ รวมถึงมีระบบสงครามอิเล็กทรอนิคส์ (ESM: Electronic Support Measures) ในการป้องกันการถูกดักรับและดักรับเป้าหมายที่ต้องการได้ 
บริเวณท้ายเรือถอดปืน 100 มม. ออก ปรับพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้เอนกประสงค์ สำหรับการรองรับติดตั้งโมดูลปฏิบัติการหลายภารกิจ เช่นชุดคอนเทนเนอร์ภารกิจค้นหากู้ภัย ชุดคอนเทนเนอร์ภารกิจค้นหาเรือดำน้ำ ชุดคอนเทนเนอร์ภารกิจขจัดคราบน้ำมัน เป็นต้น 
ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ ร.ล. เจ้าพระยา และบางปะกง สามารถปรับเปลี่ยนภารกิจ ได้หลากหลายมากขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆรวมถึงภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆในปัจจุบัน และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
...ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก น.อ. ยุทธนาวี มุ่งธัญญา ผบ. ร.ล. บางปะกง ในบทความเรื่อง 29 ปี ร.ล.บางปะกงความทรงจำที่ดีงามสู่การพัฒนาในอนาคต ซึ่งเราได้นำมาเรียบเรียงใหม่ ...Photo Sompong Nondhasa

เรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา ๒ลำแรกคือ เรือหลวงเจ้าพระยา และ เรือหลวงบางปะกง เป็นเรือฟริเกตแบบ Type 053HT ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกที่มีพื้นฐานจากเรือฟริเกตชั้น Type 053H2(NATO กำหนดรหัสชั้น Jianghu III) ซึ่งเป็นเรือรบชุดแรกที่กองทัพเรือจัดหาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ร.ล.เจ้าพระยา เข้าประจำการเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔(1991) ร.ล.บางปะกง เข้าประจำการเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นเรือฟริเกตชุดแรกๆของกองทัพเรือไทยที่ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำและทำการรบได้สามมิติ
ส่วนเรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา ๒ลำหลัง แบบเรือ Type 053HT(H) คือเรือหลวงกระบุรี(457) และเรือหลวงสายบุรี(458) เข้าประจำการตามมาในปี พ.ศ.๒๕๓๕(1992) เป็นเรือฟริเกตชุดแรกของกองทัพเรือไทยที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือรองรับการปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานปีกหมุน

การจัดหาเรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา ทั้ง ๔ลำ เมื่อเกือบ ๓๐ปีก่อนนั้นทำให้กองทัพเรือไทยสามารถจัดตั้ง กองเรือฟริเกตที่๒ กองเรือยุทธการ กฟก.๒ กร.(2nd Frigate Squadron, Royal Thai Fleet) ได้จากเดิมที่เคยมีเพียงกองเรือปราบเรือดำน้ำ หรือกองเรือฟริเกตที่๑ ในปัจจุบัน
โดยเมื่อรวมกับการจัดหาเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร(Type 025T) ๒ลำคือ ร.ล.นเรศวร(421) ที่เข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๓๗(1994) และเรือหลวงตากสิน(422) ที่เข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๓๘(1995) ซึ่งเรือที่ออกแบบรูปทรงเรือและติดตั้งระบบอาวุธและอุปกรณ์ตะวันตกผสมจีน(ในขณะนั้น)
การที่กองทัพเรือไทยเลือกจัดหาเรือฟริเกตจากจีนในขณะนั้นทำให้สามารถจัดหาเรือได้รวม ๖ลำ ซึ่งถ้าใช้งบประมาณที่เท่ากันจัดหาเรือฟริเกตจากประเทศตะวันตกจะได้เพียง ๒-๔ลำเท่านั้น โดยตามข้อมูลขณะนั้นราคาของเรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยาอยู่ที่ราว ๑,๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐บาท($68 million)

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ทางทหารกลุ่มชาติตะวันตกในยุคต้นปี 1990s มองว่าเรือฟริเกตและเรือพิฆาตที่จีนออกแบบและต่อเองในยุคนั้นไม่ค่อยต่างจากการนำเรือพิฆาตสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มาเปลี่ยนใช้เครื่องยนต์ดีเซลและติดอาวุธปล่อยนำวิถีสักเท่าไร
แม้ว่าเรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา ๔ลำที่จีนต่อให้ไทยในราคามิตรภาพจะได้รับการปรับแต่งตามความต้องการของไทยและมีมาตรฐานตะวันตกมากขึ้นเช่น เครื่องยนต์ดีเซล CODAD(Combined Diesel and Diesel) MTU เยอรมนีสี่เครื่อง และใช้ปล่องควันไอเสียทรงเหลี่ยมแทนทรงกระบอกแบบเก่า
แต่ระบบอาวุธและอุปกรณ์รวมถึงการจัดวางตำแหน่งห้องภายในที่มาพร้อมกับเรือฟริเกตชุดนี้ก็มีข้อจำกัดและล้าสมัยหมดอายุการใช้งานไปแล้วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อปัญหาการใช้งานของเรือชุดนี้มาในช่วงหลายสิบปีให้หลังมานี้

ขณะที่เรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา ๒ลำหลัง คือ ร.ล.กระบุรี และ ร.ล.สายบุรี ได้รับการปรับปรุงความทันสมัยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒(2009) แทนระบบเก่าที่หมดอายุเช่นการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ C-802A ใหม่(https://aagth1.blogspot.com/2019/04/c-802a.html)
แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้กองทัพเรือไทยไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงเรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา ๒ลำแรกคือ ร.ล.เจ้าพระยา และ ร.ล.บางปะกง ที่ยังคงใช้อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำแบบ C-801 รุ่นเก่าที่น่าจะใกล้หมดอายุการใช้งานแล้ว
รวมถึงปืนเรือ Type 79A 100mm แท่นคู่ ๒แท่น, ปืนกล Type 76 37mm แท่นคู่ ๔แท่น, แท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81(ลอกแบบ RBU-1200 รัสเซีย) ๕ท่อยิง ๒แท่น, ระบบอำนวยการรบ ZKJ-3A และ Sonar แบบ SJD-5A ซึ่งเก่าล้าสมัยและไม่มีสายการผลิตอะไหล่ทดแทนอีกแล้ว

ที่ผ่านมากองทัพเรือไทยได้แก้ไขปัญหาบางส่วนของเรือฟริเกตชุด ร.ล.เจ้าพระยา ๒ลำแรก เพื่อให้สามารถใช้ปฏิบัติงานต่อไปได้ เช่นระบบควบคุมการยิงปืนเรือ 100mm ที่หมดอายุเสื่อมสภาพ กองทัพเรือไทยก็มีการพัฒนาชุดคำสั่งเพื่อควบคุมการยิงปืนด้วยตนเองบนระบบที่ยังพอจะทำงานได้อยู่
ตามนโยบายที่จะพยายามให้เรือแต่ละลำมีอายุการใช้งานนานที่สุดอย่างน้อยลำละ ๔๐ปี และงบประมาณที่จำกัด การเปลี่ยนปืนเรือที่หัวเรือเป็น Leonardo OTO Melara 76mm ๑แท่นและปืนรองที่น่าจะเป็นปืนกล MSI 30mm ๔แท่น จะทำให้เรือใช้อาวุธแบบเดียวกับเรือส่วนใหญ่ของกองทัพเรือไทย
แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนระบบควบคุมการยิง เช่น Radar และระบบอำนวยการรบที่รองรับปืนหลักและปืนรองใหม่ไม่น่าจะรองรับ C-801 ที่หมดอายุ และ Sonar และจรวดปราบเรือดำน้ำจีน ทำให้ขีดความสามารถของเรือจะลดลงใกล้เคียงกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง(OPV: Offshore Patrol Vessel)

รวมถึงการถอดปืนเรือ 100mm ท้ายเรือเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับการใช้งานเอนกประสงค์ในรูปแบบ Module ภารกิจ(Mission Module Payload) เช่น ชุดห้องบรรทุก container ภารกิจค้นหากู้ภัย(Search and Rescue), ปราบเรือดำน้ำ(Anti-Submarine Warfare) และขจัดคราบน้ำมันในทะเลเป็นต้น
เป็นแนวคิดใหม่ในการชดเชยขีดความสามารถของเรือที่ขาดหายไปและเสริมขีดความสามารถใหม่รองรับรูปแบบภัยคุกคามในปัจจุบันทั้งยามสงบและยามสงคราม แต่ก็น่าจะมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างที่ใช้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้เหมือน ร.ล.กระบุรี และ ร.ล.สายบุรี ที่สร้างมาให้รองรับแต่แรก
อีกทั้งการถอดปืนเรือเดิมและเปลี่ยนใหม่ด้วยปืนเรือที่น้ำหนักต่างกันมากก็น่าจะทำให้ตัวเรือมีปัญหาเรื่องสมดุลเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการดัดแปลงเรือฟริเกตชุดเรือหลวงตาปี ๒ลำคือ ร.ล.ตาปี และเรือหลวงคีรีรัฐในอดีตที่ต้องถ่วงน้ำหนักเรือใหม่ ซึ่งก็ต้องมาติดตามแนวทางการปรับปรุงเรือจริงต่อไปครับ