วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นาวิกโยธินไทยเปิดตัวปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง ATMG ที่ผลิตในไทย












Two of six Elbit Systems ATMG (Autonomous Truck Mounted Gun) 155mm/52caliber wheeled self-propelled howitzer 6x6 Royal Thai Marine Corps, Royal Thai Navy was unveiled during Farewell ceremony and Sunset ceremony for Commander-in-Chief of RTN Admiral Luechai Rutdit retirement in 28 August 2020.



"กองทัพเรือ" จัดพิธีพิธีย่ำพระสุริย์ศรี เพื่อเป็นเกียรติแก่ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในโอกาสเกษียณอายุราชการ

วันนี้ (28 สิงหาคม 2563) เวลา 17.50 น. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือได้เดินทางไปยัง หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นประธานในพิธีอำลาชีวิตการรับราชการ และพิธีย่ำพระสุริย์ศรี 
ซึ่งหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บัญชาการทหารเรือ ในโอกาสเกษียณอายุราชการ โดยมี พลเรือโท รณรงค์ สิทธินันทน์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และนายทหารระดับสูงของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ให้การต้อนรับ 
ซึ่งกิจกรรมที่จัดให้มีประกอบด้วย การแสดงโดดร่ม พิธีย่ำพระสุริย์ศรี และการสวนสนามของทหารนาวิกโยธิน การจัดพิธีย่ำพระสุริย์ศรีในครั้งนี้ นอกจากการจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บัญชาการทหารเรือ เนื่องในโอกาสอำลาชีวิตราชการแล้ว 
ยังมีข้าราชการในสังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินที่ครบเกษียณอายุราชการเข้าร่วมพิธีอีก จำนวน 422 ท่าน ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบโอวาทแก่กำลังพล หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินว่า

"ผมระลึกอยู่เสมอว่า การเป็นผู้บังคับบัญชานี้ใครๆก็เป็นได้ แต่การเป็นผู้นำมีไม่กี่คนที่จะนำได้ เหมือนที่ ทหารนาวิกโยธิน กล่าวไว้ว่า "นำดี" บางคนเป็นผู้บังคับบัญชาแล้วไม่สามารถเป็นผู้นำได้ เหล่านี้วนเวียนอยู่ในสมองของผมตั้งแต่เป็นนักเรียนนายเรือ ผ่านการเป็นชั้นผู้น้อยมาโดยลำดับ 
ได้เฝ้ามอง เฝ้าคิดว่ากองทัพเรือเราจะเป็นเช่นไร จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง อดมื้อกินมื้อ สมัยยังเยาว์ ไปโรงเรียนหากไม่ ตักข้าวใส่ตลับไปโรงเรียน ก็ต้องอดมื้อเที่ยง บางครั้งบุพการีได้ให้เงินเป็นค่าอาหาร แต่ด้วยใจรักแห่งความมัธยัสถ์ ก็จะเก็บส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาของตัวเอง 
นี่คือเยาว์วัยเมื่อเติบโตขึ้นใจจริงแล้วไม่อยากเป็นทหารอยากเป็นสถาปนิก เพราะว่าใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก แต่ด้วยภาวะทางฐานะซึ่งเด็กบ้านนอกชาวนาผู้หนึ่งไม่มีปัญญาที่จะเป็นวิศวกรได้ และได้เห็นความเป็นลูกผู้ชายของทหารเรือเมื่อเยาว์วัย 
เมื่อกลุ่มนักเลงหัวไม้ รังแกประชาชนผู้อ่อนแอ มีกะลาสีทหารเรือเพียงแค่คนเดียว กับ 1 มีดโกนสามารถล้มนักเลงหัวไม้เป็นสิบ ให้พ่ายแพ้ไปได้ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ว่า "ต่อไปนี้ฉันจะเป็นทหารเรือ"

ในชั้นมัธยม ผมจึงได้ตั้งใจศึกษาหาความรู้ จนกระทั่งสามารถสอบเข้าเป็นนักเรียนนายเรือได้ เมื่อเป็นนักเรียนนายเรือก็เฝ้ามองการปกครองบังคับบัญชา แต่โชคดีประการหนึ่งคือมีพี่ชายเป็นทหารบก 
เกิดการแลกเปลี่ยนวิเคราะห์ความรู้กันและเมื่อเป็นผู้บังคับบัญชาก็คิดว่าต้องเป็นผู้นำที่ดีด้วยจึงจะเกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ได้เห็นความทุกข์ยากของชั้นผู้น้อย อยู่อย่างอัตคัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารตามแนวชายแดน ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องไป ตรวจเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจอยู่เสมอ 
ผมขอขอบคุณผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ฝึกปรือ ฝึกฝน ให้ทหารเข็มแข็งเช่นในอดีตที่ผ่านมา ขอบคุณท่านประธานชมรมภริยาทหารเรือนาวิกโยธินที่ดูแลครอบครัวทหารนาวิกโยธิน ให้มีความสมัครสมานสามัคคี

ตราบใดที่น้ำทะเลเป็นสีเข้ม ตราบนั้นเลือดเราไม่เคยจาง ไม่ว่าจะเหล่าพรรคใดเราคือทหารเรือไทยเป็นลูกเสด็จเตี่ยทุกคน นี่คือความมุ่งมั่นของผม ผู้บัญชาการเชื่อว่า สุดท้ายในการรบ ชนะที่คนไม่ใช่เครื่องมือ 
คนต้องเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้จึงจะชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารมารีนและมนุษย์กบเมื่อทิ้งไพ่ใบสุดท้ายต้องชนะ นี่คือเจตนารมณ์แน่วแน่ของผม 
ผมไม่ขอฝากอะไรเพราะว่าเห็นความพร้อมทุกหมู่เหล่าอยู่ที่นี้ รวมถึงหน่วยอื่นแล้ว ขอขอบคุณอย่างจริงใจอีกครั้งหนึ่งที่ให้การต้อนรับแสดงความเทิดเกียรติในวันนี้ "

ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ได้มุ่งเน้นการพัฒนากองทัพเรือ ให้ขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ด้วยนโยบายที่มุ่งเน้นให้กองทัพเรือ 
เป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาค และเป็นเลิศในการบริหารจัดการ เพื่อไปสู่ขั้นรุกคืบหน้า สถาปนาความมั่นคง” (Moving Forward to Ensure Sustainability : MFES) 
โดยอยู่บนหลักคิดพื้นฐานที่ว่า “ที่มีอยู่ต้องรักษาให้อยู่ แล้วพัฒนาต่อไป” ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กองทัพเรือไปถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ สมดังเจตนารมณ์ของพลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ว่า 
"กองทัพเรือ ต้องเป็นกองทัพทหารของประชาชน หายใจเชื่อมใจ ประสานใจและมีชะตาชีวิตร่วมกันกับประชาชน สู้เพื่อรับใช้ประชาชน ที่ใดมีศัตรูที่ใดมีภัย ที่นั่นย่อมมีทหารของกองทัพเรือ ให้สมกับคุณค่าที่ส่งมอบให้กับสังคม เป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

สำหรับพิธีย่ำพระสุริย์ศรี เป็นพิธีการของทหารเรือไทยพิธีหนึ่ง คล้ายกับการสวนสนามเพื่ออำลาชีวิตราชการของผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน เป็นต้น 
ซึ่งพิธีนี้นั้นจะเริ่มกระทำในเวลาที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าพอดี (ประมาณ 18.00 น.) ถือเป็นขนบธรรมเนียมของทหารหน่วยนาวิกโยธิน โดยมีการอัญเชิญธงราชนาวีลงจากยอดเสา โดยทั่วไปที่ถือเอาเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นหลัก 
จึงได้ชื่อว่า “พิธีย่ำพระสุริย์ศรี” ซึ่งเรียกตามชื่อ “เพลงพระสุริย์ศรี” ซึ่งเป็นเพลงที่เกิดจากภูมิปัญญาทหารเรือไทยที่พัฒนาจากจังหวะเพลงย่ำค่ำ มาเป็นเพลงบรรเลงรูปจบกระบวนของการแสดงดนตรีสยาม หรือเพลง ฟีนาเล่ 
และด้วยเหตุผลที่ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ เมื่อเชิญธงราชนาวีลงจากยอดเสา พลแตรเดี่ยวจะเป่าเพลง ย่ำค่ำ อันเป็นตำนานเก่าแก่สืบมาช้านาน จึงน่าอนุโลมใช้คำ ย่ำพระสุริย์ศรี กับพิธีการเช่นนี้ได้ 
ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษนัก แต่มีความหมายในภาษาไทยว่า การจบ สิ้นสุด หรือยุติลงอย่างสง่างาม ซึ่งสอดรับกับพิธีการของการอำลาชีวิตราชการอย่างกลมกลืน 
ดังนั้น พิธีย่ำพระสุริย์ศรี จึงมีความเป็นมาด้วยประการเช่นนี้ โดยพิธีการนี้ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน มิได้ลอกเลียนแบบมาจากหน่วยทหารสวนสนามของนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใดเพียงแต่อาศัยเค้าโครงมาสอดแทรกการแสดงทางทหารประกอบวงโยธวาทิต 
ซึ่งทั้งสิ้นจะกระทำอยู่ท่ามกลางความสว่างจากดวงไฟที่จัดไว้อย่างเหมาะสม โดยมีลำแสงของพระอาทิตย์ที่ทาบทาท้องฟ้ายามเย็นย่ำเป็นฉากหลังที่สวยงามตามธรรมชาติ และปิดท้ายด้วยการจุดพลุดอกไม้ไฟอันงดงามตระการตา 
หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จะจัดพิธีเช่นนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ หรือเทิดเกียรติบุคคลสำคัญของกองทัพเรือ เท่านั้น พิธีดังกล่าว จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่ลำแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์จะค่อย ๆ เลือนลับไปกับความมืด 
และเหมาะสมสำหรับการต่อด้วยงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นพิธีการที่สามารถจัดขึ้นในเวลาถัดไปในสถานที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน
พิธีย่ำพระสุริย์ศรี มีขึ้นครั้งแรกที่บริเวณที่บริเวณสนามหน้ากองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2522 
ในโอกาสที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ฉลองพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีกรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ เรือโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี 
และได้จัดให้มีพิธีเช่นเดียวกันนี้ต่อเนื่องอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างพิธีอำลาชีวิตราชการ และพิธีย่ำพระสุริย์ศรี แก่ผู้บัญชากาทหาเรือและนายทหารกองทัพเรือที่จะเกษียณอายุในปี พ.ศ.๒๕๖๓(2020) ณ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓ 
นาวิกโยธินไทยได้มีการเปิดตัวปืนใหญ่อัตตาจรล้อยางแบบ ATMG(Autonomous Truck Mounted Gun) 6x6 ขนาด 155mm/52caliber ของตนที่ถูกนำมาจัดตั้งแสดงประกอบพิธีและร่วมการสวนสนามของทหารนาวิกโยธิน

ในปี พ.ศ.๒๕๖๑(2018) นาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย(RTMC: Royal Thai Marine Corps, RTN: Royal Thai Navy) ได้ลงนามสัญญาจัดหาปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง ATMG 155mm/52cal จำนวน ๖ระบบ วงเงินราว ๘๖๕,๐๐๐,๐๐๐บาท($26 million) 
ที่มีพื้นฐานจากระบบปืนใหญ่อัตตาจรล้อยางแบบ ATMOS(Autonomous Truck Mounted howitzer System) ของบริษัท Elbit Systems Land and C4I Ltd. อิสราเอล(https://aagth1.blogspot.com/2018/04/atmg.html)

ป.อัตตาจรล้อยาง ATMG ถูกสร้างภายในประเทศไทยผ่านการถ่ายทอด Technology โดย ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ศอว.ศอพท.(WPC: Weapon Production Center, DIEC: Defence Industry and Energy Center) กระทรวงกลาโหมไทย
ซึ่งได้เสร็จสิ้นการผลิตและส่งมอบปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง ATMG จำนวน ๑๘ระบบแก่กองทัพบกไทย(Royal Thai Army) แล้วในปี พ.ศ.๒๕๖๒(2019) โดยถูกนำเข้าประจำการใน กองพันทหารปืนใหญ่ที่๗๒๑ กองพลทหารปืนใหญ่(https://aagth1.blogspot.com/2019/01/atmg-atmm.html)

มีรายงานว่า กรมทหารปืนใหญ่ กองพลนาวิกโยธิน(Marine Artillery Regiment, Royal Thai Marine Division) ได้รับมอบ ป.อัตตาจรล้อยาง ATMG  ที่สั่งจัดหา ๖ระบบเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓ นับเป็นปืนใหญ่อัตตาจรแบบแรกของนาวิกโยธินไทยจากเดิมที่มีประจำการแต่ปืนใหญ่ลากจูง
ทั้งนี้กองทัพบกไทยกำลังดำเนินการสั่งจัดหา ป.อจ. ATMG จาก ศอว.ศอพท. เพิ่มเติมอีก ๑๘ระบบสำหรับหนึ่งกองพันทหารปืนใหญ่ แบ่งเป็นระยะแรกหนึ่งกองร้อยปืนใหญ่ ๖ระบบ วงเงินราว ๘๘๖,๐๐๐,๐๐๐บาท($28.5 million) ทำให้จำนวน ATMG ที่จะผลิตในไทยจะรวมเป็นถึง ๔๒ระบบครับ