Royal Thai Navy's OPV-552 HTMS Prachuap Khiri Khan the second Krabi class Offshore Patrol Vessel in construction at Mahidol Adulyadej Naval Dockyard Sattahip Chonburi, May 2019.
HTMS Prachuap Khiri Khan has schedule to launching ceremony in 2 August 2019.
วันนี้ (12 พฤษภาคม 2562) สํานักงานเลขานุการกองทัพเรือ นำโดย นาวาเอก พาสุกรี วิลัยรักษ์ รองเลขานุการกองทัพเรือ พาคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางเยี่ยมชมความคืบหน้าการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 (เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์)
ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
จากกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานในพิธีวางกระดูกงูเรือต.91 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2510 ความว่า
" การป้องกันประเทศทางทะเลเป็นหน้าที่โดยตรงและสำคัญที่สุดของกองทัพเรือ หน้าที่นี้เป็นภาระหนักที่ต้องอาศัยทหารซึ่งมีความรู้ความสามารถ และเรือรบจะมีคุณภาพดีประกอบพร้อมกันไป
บรรดาเรือรบที่ใช้ในราชการเป็นเรือที่สั่งทำจากต่างประเทศ การที่ทางราชการกองทัพเรือสามารถเริ่มต่อเรือยนต์รักษาฝั่งขึ้นใช้ในราชการได้เช่นนี้ จึงควรจะเป็นที่น่ายินดีและน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง นับว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าสำคัญก้าวหนึ่งของกองทัพเรือ"
นับแต่นั้นเป็นต้นมาถือเป็นจุดเริ่มแรกของกองทัพเรือในการสร้างเรือด้วยการพึ่งพาตนเองที่กองทัพเรือน้อมนำกระแสพระราชดำรัส มาปฏิบัติ ทั้งเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งในชุด ต.91 จนถึง ต. 99 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2545 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือความว่า
"เรือรบ ขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เองซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือต่อ 91 ได้แล้วควรขยายแบบเรือให้ใหญ่และสร้างเพิ่มเติม "
อันเป็นจุดเริ่มต้นในโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือต่อ 991 เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ตามแนวพระราชดำริชุดเรือ ต.991 ที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และได้ดำเนินการสร้างเรือด้วยการพึ่งพาตนเองมาอย่างต่อเนื่อง
ต่อมา กองทัพเรือ ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสแต่กล่าวมาเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการกำลังรบตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือผูกพันปีงบประมาณ 2551 ถึง 2554
ในโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่าเรือหลวงกระบี่
นับเป็นการเพิ่มศักยภาพ ด้วยการต่อเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเองกับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือในการต่อเรือตรวจการณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
โดยเรือหลวงกระบี่ถือได้ว่าเป็นเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่กองทัพเรือไทยเคยสร้างมามีระยะเวลาในการสร้างเรือนับตั้งแต่วางกระดูกงูจนถึงขึ้นระวางประจำการรวม 3 ปี
โดยกองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาซื้อขายแบบเรือและพัสดุจากประเทศอังกฤษ ส่วนการบริการทางเทคนิคในการติดตั้งการเชื่อมต่อการทดสอบ ทดลองอุปกรณ์ตลอดจนการสร้างเรือในสาขาต่างๆนั้นได้ลงนามกับ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในส่วนของกองทัพเรือ
โดยสามารถดำเนินการจนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในปี 2555 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือและปล่อยเรือลงน้ำ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช
สำหรับ โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เข้าประจำการกองทัพเรือโดยใช้แบบของเรือหลวงกระบี่เป็นพื้นฐานในการสร้างเรือพร้อมกับมีการปรับปรุงข้อบกพร่อง ในส่วนต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงกระบี่
เพื่อให้เรือลำใหม่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมมากขึ้นในการตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรืออนุมัติให้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปีนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ถึง 2561
โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ลำที่ 2 เฉลิมพระเกียรติ เป็นส่วนหนึ่ง โครงการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ
มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ ของกองทัพเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมายในทะเลและการปฏิบัติการรบผิวน้ำรวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่นๆ
ทั้งนี้ ในส่วนของความแตกต่างระหว่าง เรือหลวงกระบี่ กับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 ที่สำคัญ คือ ได้เพิ่มขีดความสามารถของดาดฟ้าบินให้สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบซีฮอว์คได้ การติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบฮาร์พูน
รวมถึงการปรับปรุงห้องต่างๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของการต่อเรือนั้น ใช้การต่อแบบ Block Construction แทนการต่อแบบเดิมที่ต้องเริ่มจากการวางกระดูกงูเรือ โดยประกอบ 17 บล็อคใหญ่ 31 บล็อคย่อย ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยนำมาประกอบ ในอู่แห้ง
โดยได้ดำเนินการสร้างเรือ ที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช และเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช
ต่อมาในปี 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่าเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์โดยในขณะนี้การดำเนินการต่างๆแล้วเสร็จไปกว่า ร้อยละ 85
และกองทัพเรือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลงน้ำ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่กองทัพเรือ อย่างหาที่สุดมิได้
โครงการสร้างเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ลำนี้ กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือในการดำเนินการติดตั้งทดสอบ ทั้งตัวเรือโดยกรมอู่ทหารเรือ ระบบอาวุธ โดยกรมสรรพาวุธทหารเรือ และ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ
แม้ว่าจะใช้แบบเรือของต่างประเทศแต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างเรือขนาดใหญ่ด้วยการพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ
https://www.facebook.com/prthainavy/posts/2431440163573992
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒(2019) นี้ ความคืบหน้าการก่อสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงกระบี่ลำที่สอง เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้ดำเนินการต่างๆแล้วเสร็จไปแล้วร้อยละ๘๕
ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ มีกำหนดจะทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ แม้ว่าตัวเรือจะได้ออกจากอู่แห้ง ของ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑(2018) แล้วก็ตาม
แต่ก็เป็นเพียงเพื่อการติดตั้งระบบต่างๆ(Setting to work) ไม่ใช่การทำการทดสอบระบบหน้าท่า(HAT: Harbour Acceptance Test) โดยพิธีปล่อยเรือลงน้ำอย่างเป็นทางการก็เป็นไปตามกำหนดการณ์ในข้างต้น
โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สอง(ชุด ร.ล.กระบี่) คือ ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ แม้ว่ากำลังพลของกรมอู่ทหารทหารเรือและเจ้าหน้าที่จากบริษัท อู่กรุงเทพ ที่จัดซื้อสิทธิบัตรแบบเรือ 90m OPV จากบริษัท BAE Systems สหราชอาณาจักร
จะมีประสบการณ์ทำงานมาจากโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรก คือ ร.ล.กระบี่ ที่เข้าประจำการไปตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔(2011) แล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงการสร้างเรือ ตกก. ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ลำนี้ก็ยังมีอุปสรรคปลีกย่อยต่างๆอยู่บ้างเช่นกัน
แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปในบางส่วน แต่ความมุ่งมั่นของกองทัพเรือไทยที่จะต่องเรือใช้ให้ได้เองในประเทศ ก็ได้แสดงผลออกมาในการพาคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมความคืบหน้าการสร้างเรือในครั้งล่าสุดนี้ ตามมาด้วยการขึ้นระวางประจำการเรือในอนาคตอันใกล้ครับ