วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2567

DTI และกองทัพบกไทยทดสอบและประเมินผลต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ D11A










Thailand's Defence Technology Institute (DTI) and Royal Thai Army (RTA) were testing and evaluating prototype of D11A Multi-Purpose Rocket and Missile Launcher at vehicle driving training and testing range of RTA's Army Transportation Department in Kanchanaburi Province on 4-6 September 2024. (Defence Technology Institute)

เมื่อวันที่  4 - 6  กันยายน  2567 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้ทำการทดสอบและประเมินผลโครงการต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้อง อเนกประสงค์ (D11A) ร่วมกับคณะทำงานทดสอบและประเมินผลโครงการฯ ของกองทัพบก ณ สนามฝึกขับและทดสอบ   ยานพาหนะ กรมการขนส่งทหารบก จังหวัดกาญจนบุรี
โดยได้ดำเนินการทดสอบความคล่องตัว ความสามารถในการปฏิบัติการทางทหารตามสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย โดยมีการทดสอบการไต่ลาดเอียง การไต่ลาดชัน และการทดสอบข้ามสิ่งกีดขวาง ประกอบด้วย คอนกรีตผิวขรุขระ คอนกรีตผิวลูกคลื่น บ่อโคลน บ่อน้ำ บ่อทราย ขอนขวางถนนในทางตรง และทางโค้ง ผิวถนนหินใหญ่และกรวดทราย 
ซึ่งผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตรงตามขีดความสามารถ สมรรถนะ ของต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ และสามารถปฏิบัติภารกิจได้ทุกสภาพของภูมิประเทศ ตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาโครงการต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์  ระหว่างกองทัพบก และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
ทั้งนี้ต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ สามารถผ่านการทดสอบตามหัวข้อการทดสอบ และประเมินผลโครงการฯ ตามที่คณะกรรมการทดสอบและประเมินผลโครงการฯ ของกองทัพบก ได้กำหนดขั้นตอนต่อไป โดยทางโครงการฯ จะได้นำผลการทดสอบและประเมินผลโครงการฯ ดังกล่าว เข้าสู่ขั้นตอนการรับรองมาตรฐานผลงานวิจัย และพัฒนาการทางทหาร ของกองทัพบกต่อไป

การทดสอบและประเมินผลต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ D11A ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สปท. DTI(Defence Technology Institute) และ กองทัพบกไทย(RTA: Royal Thai Army) ณ สนามฝึกขับและทดสอบยานพาหนะ กรมการขนส่งทหารบก ขส.ทบ.(Army Transportation Department) ในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๔-๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๗(2024)
ที่มีขึ้นหลังการส่งมอบต้นแบบให้แก่กองพันทหารปืนใหญ่ที่๗๑๑ กรมทหารปืนใหญ่ที่๗๑ ป.๗๑ พัน.๗๑๑(711th Artillery Battalion, 71st Artillery Regimen) กองพลทหารปืนใหญ่ พล.ป.(Artillery Division) ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ศป.(Artillery Center) กองทัพบกไทย ณ ค่ายภูมิพล(Fort Bhumibhol) ในจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๗(https://aagth1.blogspot.com/2024/08/dti-d11a.html)

การทดสอบที่สนามฝึกขับทดสอบยานพาหนะของ กรมการขนส่งทหารบก ในจังหวัดกาญจนบุรีล่าสุด เป็นเหตุการณ์สำคัญของโครงการที่จะเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการทดสอบประเมินค่าของกองทัพบกไทยเพื่อตัดสินใจการเปิดสายการผลิตต่อไป(https://aagth1.blogspot.com/2023/11/defense-security-2023-dti-d11a.html) โดยคาดว่าการทดสอบยิงจริงของจรวดพื้นสู่พื้นจากแท่นยิงจะมีขึ้นตามมาภายหลัง
รถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ D11A รุ่นที่พัฒนาในไทยของระบบเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องหลายขนาดลำกล้องอัตตาจรแบบ PULS(Precise and Universal Launching System) ของบริษัท Elbit Systems อิสราเอล(https://aagth1.blogspot.com/2023/09/dti-d11a.html) ที่นำแท่นยิงแบบ modular สองแท่นติดตั้งบนรถแคร่ฐานรถยนต์บรรทุก Tatra 6x6 ขนาด 10 tonne สาธารณรัฐเช็ก

รถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ D11A มีขีดความสามารถในการเปลี่ยน Pod ลูกจรวดชนิดใหม่ได้ทันที(น้อยกว่า ๑๐นาที) รองรับการยิงจรวดที่มีระยะยิงไกลสุดตั้งแต่ 40km จนถึง 300km ตั้งแต่จรวดไม่นำวิถีขนาด 122mm(GRAD รัสเซีย) ซึ่งรองรับจรวด DTI-2 ที่พัฒนาในไทย และจรวดแบบ SHE-30 และ SHE-40 จีนที่ใช้ร่วมกับจรวดหลายลำกล้องอัตตาจร SR4 จีนที่กองทัพบกไทยมีใช้งานอยู่แล้วได้
โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๗ กองทัพบกไทยได้เห็นชอบการจัดซื้อจรวด SHE-30 จำนวน ๕๖๓นัด วงเงิน ๑๖๐,๔๘๑,๘๕๕.๑๐ บาท($4,757,837.65) และจรวด SHE-40 จำนวน ๕๐๕นัด วงเงิน ๑๕๑,๗๓๐,๒๑๕.๖๑ บาท($4,498,376.05) เพิ่มเติมจาก China North Industries Corporation(NORINCO) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตอาวุธของจีน เป็นการเพิ่มจำนวนกระสุนและพร้อมนำมาใช้งานกับระบบที่มีอยู่แล้วได้

ขณะที่จรวดนำวิถี Accular ขนาด 122mm ระยะยิงหวังผล 40km ชุดยิง ๑๘นัด(ติดตั้งได้สูงสุดสอง pod รวม ๓๖นัด) จะเป็นจรวดพื้นสู่พื้นแบบแรกที่จะมีการทดสอบการยิงจริง ณ สนามยิงปืนใหญ่เขาพุโลน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ศป. จังหวัดลพบุรี ในระยะยิง 19km ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๗ นี้ รวมถึงจรวดนำวิถี EXTRA ขนาด 306mm ระยะยิงหวังผล 150km ชุดยิงละ ๔นัด(สอง pod รวม ๘นัด) 
และจรวดนำวิถี Predator Hawk ขนาด 370mm ระยะยิงหวังผล 300km ชุดยิง ๒นัด(สอง pod รวม ๔นัด) ทั้งนี้ Elbit Systems อิสราเอลยังได้เสนอจรวดร่อนทางยุทธวิธีอัตโนมัติ(Autonomous Loitering Munition) แบบ SkyStriker ซึ่งสามารถทำการยิงจากฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ D11A ได้ด้วย ซึ่งถ้าเข้าสู่สายการผลิตและนำเข้าประจำการได้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพบกไทยอย่างมากครับ