วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

กองทัพอากาศไทยทำพิธีครบรอบ ๔๐ปีเครื่องบินลำเลียง C-130H

























Air Chief Marshal Manat Wongwat Commander-in-Chief of Royal Thai Air Force (RTAF) was attended to 40th Anniversary ceremony for Lockheed Martin C-130H Hercules tactical trasport aircrafts at 601st Squadron, Wing 6 Don Muang, Thailand in 24 September 2020.

งานเกียรติยศ ๔๐ ปี เครื่องบินลำเลียง C-130H ...งานกองทัพอากาศ จัดงานเกียรติยศ ๔๐ ปี การบรรจุเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๘ (C-130H) เข้าประจำการในกองทัพอากาศ 
....วันนี้ พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานใน “งานเกียรติยศ ๔๐ ปี การบรรจุเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๘ (C-130H) เข้าประจำการในกองทัพอากาศ” ณ ท่าอากาศยานทหาร ๒ กองบิน ๖ ดอนเมือง 
...ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวให้โอวาทเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่กับเครื่องบิน C-130H จากนั้นได้เปิดแผ่นป้าย “กองทัพอากาศ เคียงข้างประชาชน” บริเวณด้านข้างลำตัวเครื่องบิน C-130H 
เยี่ยมชมนิทรรศการ และถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ และข้าราชการกองบิน ๖ โดยการจัดงานฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชื่นชมและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการและครอบครัว 
ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานกับเครื่องบิน C-130H ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ได้เสียสละทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการปฏิบัติภารกิจกับเครื่องบิน C-130H รวมถึงการสนับสนุนรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ จนทำให้เครื่องบินดังกล่าวเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากประชาชน

...สำหรับเครื่องบิน C-130H บรรจุเข้าประจำการที่ฝูงบิน ๖๐๑ กองบิน ๖ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ โดยตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีที่ผ่านมา เครื่องบิน C-130H ได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญหลากหลายภารกิจ 
อาทิ เป็นเครื่องบินพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อเสด็จฯ เยี่ยมสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งประชวรอยู่ที่ พระตําหนักดอยตุง ภารกิจลำเลียงทางอากาศรับคนงานไทยในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี การส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศ การควบคุมไฟป่า 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติภารกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน สนับสนุนการลำเลียงสิ่งของและคณะค้นหาช่วยชีวิตจากหน่วยงานต่างๆ ในภารกิจช่วยเหลือ “ทีมหมูป่า” ณ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย 
การเสริมสร้างสันติสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภารกิจลำเลียงของบริจาคเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย ลำเลียงผู้บาดเจ็บและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งในและต่างประเทศ 
นอกจากนี้เครื่องบิน C-130H ยังได้เข้าร่วมการฝึกทางทหารที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การฝึกร่วม/ผสม COBRA GOLD การฝึกผสม COPE TIGER และการฝึกผสม RED FLAG ณ มลรัฐอลาสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา 
ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประเทศที่ได้เข้าสู่การฝึกระดับนานาชาติ นำพาชื่อเสียงให้กับประเทศเป็นอย่างมากอีกด้วย …Photo Sompong Nondhasa

ประวัติความเป็นมาของฝูงบิน 601 และประวัติในการบรรจุ บ.ล.8 ( C-130H) 
...ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด จากการถูกล่วงล้ำอธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง กองทัพอากาศจึงได้จัดตั้ง “กองบินน้อยที่ 6” ขึ้น ในวันที่ 12 เม.ย. พ.ศ.2484 ซึ่งถือเป็นกองบินที่บรรจุฝูงบินทิ้งระเบิดแห่งแรกของกองทัพอากาศไทย 
ประกอบด้วยฝูงบิน 61 (จัดตั้งในเดือน ส.ค.) บรรจุเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ 3 และฝูงบิน 62 (จัดตั้งในเดือน ก.ย.) บรรจุเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบที่ 4 โดยมี นาวาอากาศเอก สกล รสานนท์ เป็นผู้บังคับการกองบินน้อยที่ 6 
ในเดือน พ.ย.2484 ฝูง.61 ได้เคลื่อนย้ายฝูงบินไปราชการ ณ บ้านแพะ จว.สระบุรี และกองบินน้อยที่ 6 ได้อยู่ในบทบาทของกองบินทิ้งระเบิด 

จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองบังคับการกองบิน รวมถึงฝูงบิน ได้เคลื่อนย้ายกลับสู่ ณ ที่ตั้งปกติ ที่สนามบินดอนเมือง กองทัพอากาศ และบทบาทของกองบินลำเลียงได้ถือเริ่มขึ้นจากการบิน บ.เมล์ 
ในปี พ.ศ. 2489 โดยมีฝูงบิน 61,62 และ 63 อยู่ในบังคับบัญชา ในปี พ.ศ.2490 ได้จัดตั้งกองบังคับการกองบินน้อยที่ 6 ขึ้นถาวร โดยมี นาวาอากาศเอก หาญ กฤษณสมิต เป็นผู้บังคับการกองบินน้อยที่ 6 
และเริ่มปฏิบัติภารกิจการลำเลียง และฝึกนักบินส่วนกลาง บรรจุเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 1 และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 และเริ่มพิมพ์ “ROYAL THAI AIR FORCE” ที่ลำตัวเครื่องบิน 
ในปี พ.ศ.2492 กองบินน้อยที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็น “กองบินลำเลียง” โดยฝูง.61 มีภารกิจลำเลียงทางอากาศบรรจุเครื่องบินแบบ C-45 และ C-47 และเริ่มสนับสนุนการเคลื่อนย้ายกำลังพลในสงครามเกาหลี ในปี พ.ศ.2493 
ในปี พ.ศ.2506 ฝูง.61 ได้รับการบรรจุเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 4 หรือ C-123 เข้าประจำการ ปฏิบัติภารกิจ ลำเลียงทางอากาศ และเข้าบรรจุเป็นหน่วยบิน VICTORY ในวันที่ 29 ก.ย. พ.ศ.207 ในสงครามเวียดนาม และเดินทางกลับจากสงครามในปี พ.ศ.2514 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 กองบินลำเลียง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองบิน 6” และฝูง. 61 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ฝูงบิน 601 กองบิน 6” โดยมี นาวาอากาศโท อุดมศักดิ์ มหาวสุ ฝูง. 601ฯ บรรจุเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 4 (C-123) และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 6 (MERLIN IV) 

ในเวลาต่อมาเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 4 ใกล้ครบกำหนดประจำการ และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 6 ได้รับการย้ายเข้าสู่ครอบครองของฝูงบิน 603 กองทัพอากาศจึงได้มีโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ทดแทน 
ซึ่งเครื่องบินแบบ C-130H มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการลำเลียงทางอากาศ กองทัพอากาศจึงได้จัดหาเครื่องบิน C-130H จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ จำนวน 3 เครื่อง 
โดยมี นาวาอากาศโท อุดมศักดิ์ มหาวสุ ผู้บังคับฝูงบิน 601 ณ ขณะนั้นเป็นหัวหน้าชุดเดินทางไปฝึก และรับเครื่อง C-130H จำนวน 3 ลำแรก กลับมาประจำการในกองทัพอากาศ โดยบรรจุเป็นเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ บ.ล.8 
โดยเครื่องบินลำแรกที่กลับมาถึงสนามบินดอนเมือง คือ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หมายเลข 03/23 เมื่อวันที่ 4 ก.ย. พ.ศ. 2523 และเข้าพิธีบรรจุประจำการเมื่อ 17 ต.ค. พ.ศ. 2523 โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีรับมอบ 

โดยกองทัพอากาศได้บรรจุ บ.ล.8 เข้าประจำการจำนวนทั้งสิ้น 12 ลำ โดย บ.ล.8 หมายเลข 12/35 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 28 ธ.ค. พ.ศ. 2535 โดยแต่ละลำมีรายละเอียดในการบรรจุดังนี้ 
…60101 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 1/23 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ ก.ย. 2523 น.ท.อุดมศักดิ์ มหาวสุ เป็น หน.ชุดเดินทางไปรับเข้าประจำการเมื่อ 17 ต.ค. 2523 
…60102 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 2/23 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ ก.ย. 2523 เข้าประจำการเมื่อ 17 ต.ค. 2523 
…60103 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 3/23 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 4 ก.ย. 2523 เข้าประจำการเมื่อ 17 ต.ค. 2523 
…60104 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 4/23 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 28 พ.ค. 2526 
…60105 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 5/31 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 23 ธ.ค. 2531 
…60106 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 6/31 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 23 ธ.ค. 2531 
…60107 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 7/33 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 10 ธ.ค. 2533 เข้าประจำการเมื่อ 12 ธ.ค. 2533 
…60108 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 8/33 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 10 ธ.ค. 2533 เข้าประจำการเมื่อ 12 ธ.ค. 2533 
…60109 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 9/35 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 19 พ.ย. 2535 
…60110หมายเลข ทอ. บ.ล.8 10/35 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 19 พ.ย. 2535 
…60111 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 11/35 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 28 ธ.ค. 2535 
…60112 หมายเลข ทอ. บ.ล.8 12/35 เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อ 28 ธ.ค. 2535 

...ภารกิจสำคัญที่ บ.ล.8 ได้เคยปฏิบัติที่ผ่านมา 
... พ.ศ.2534 ลำเลียงสิ่งของอุปโภค บริโภค เวชภัณฑ์ในเหตุการณ์อุทกภัยในหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ จีน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ 
…2540 อพยพคนไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศกัมพูชา 
...พ.ศ.2540 อพยพคนไทยจากเหตุการณ์รุกล้ำน่านน้ำในประเทศพม่า 
...พ.ศ.2542 บินปล่อยนักกระโดดร่มเกาะหมู่จำนวนมากที่สุดในโลก ลงหนังสือกินเนสส์ 
...พ.ศ.2546 อพยพคนไทยจากเหตุการณ์จลาจลในประเทศกัมพูชา (ยุทธการโปเชนตง) 
...พ.ศ.2547 ลำเลียงสิ่งของอุปโภค บริโภค เวชภัณฑ์ และผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์สึนามิ จังหวัดภูเก็ต
...พ.ศ.2561 ลำเลียงสิ่งของ อุปกรณ์สนับสนุนทีมช่วยเหลือ เหตุการณ์ 13 หมูป่า ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน 
...พ.ศ.2562 บินควบคุมไฟป่า พื้นที่ป่า พรุครวนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช 

......ในเดือนกันยายนปี 2563 นี้ บ.ล.8 เข้าสู่การทำงานปีที่ 40 ในการรับใช้กองทัพอากาศ ประเทศชาติ และประชาชน และยังเป็นตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการฝึกทางทหารในระดับนานาชาติ นำพาชื่อเสียงให้กับประเทศ และความภาคภูมิใจให้กับประชาชนชาวไทย 
จึงถือเป็นเครื่องบินที่ทำงานหนักที่สุดแบบหนึ่งของกองทัพอากาศ และจะคงทำงานให้กับประเทศชาติ กองทัพอากาศ และประชาชนสืบไป “ 40 ปี ที่อยู่เคียงข้างคนไทยในทุกเหตุการณ์ตลอดมา และจะอยู่เคียงข้างประชาชนตลอดไป ” 
….ANYTIME ANYWHERE ANY MISSION …Photo Sompong Nondhasa

กองทัพอากาศไทย(RTAF: Royal Thai Air Force) มีเครื่องบินลำเลียงแบบที่๘ บ.ล.๘ C-130H ประจำการอยู่ทั้งหมด ๑๒เครื่อง ณ ฝูงบิน๖๐๑ กองบิน๖ ดอนเมือง โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยระหว่าง ๒๘-๔๐ปี ประกอบด้วยรุ่นลำตัวสั้น C-130H ๖เครื่อง และรุ่นลำตัวยาว C-130H-30 ๖เครื่องคือ
C-130H หมายเลข 60101, 60102, 60103 เข้าประจำการ พ.ศ.๒๕๒๓(1980), C-130H-30 60104 ปี พ.ศ.๒๕๒๖(1983), C-130H-30 60105, 60106 ปี พ.ศ.๒๕๓๑(1988), C-130H-30 60107 และ C-130H 60108 ปี พ.ศ.๒๕๓๓(1990) และ C-130H 60109, 60110 และ C-130H-30 60111, 60112 ปี พ.ศ.๒๕๓๕(1992)
กองทัพอากาศไทยมีแผนในการยืดอายุการใช้งาน บ.ล.๘ C-130H โดยการปรับปรุงเครื่องยนต์ใบพัด Turboprop แบบ T56 เป็นรุ่น Series 3.5 ๒๐เครื่อง ทำให้มีอย่างน้อย ๕เครื่องที่จะใช้งานได้จนถึงปี 2040(พ.ศ.๒๕๘๓)(https://aagth1.blogspot.com/2019/06/rolls-royce-c-130h.html)

ตามสมุดปกขาวกองทัพอากาศไทย 2020(https://aagth1.blogspot.com/2020/02/2020.html) กองทัพอากาศไทยมีโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทดแทน บ.ล.๘ C-130H Hercules จำนวน ๑๒เครื่อง และระบบที่เกี่ยวข้อง พร้อมการฝึกอบรมสำหรับใช้ปฏิบัติภารกิจในการลำเลียงทางอากาศ
ระยะเวลาดำเนินการ ระยะที่๑ ผูกพันงบประมาณ ๔ปี ปีงบประมาณ ๒๕๖๕-๒๕๖๘(2022-2025) จำนวน ๔เครื่อง, ระยะที่๒ ผูกพันงบประมาณ ๔ปี ปีงบประมาณ ๒๕๖๗-๒๕๖๙(2024-2026) ๔เครื่อง, ระยะที่๓ ผูกพันงบประมาณ ๔ปี ปีงบประมาณ ๒๕๖๙-๒๕๗๒(2026-2029) จำนวน ๔เครื่อง
อย่างก็ตามการตัดลดงบประมาณกลาโหมลงจากผลกระทบการระบาดของ coronavirus Covid-19(https://aagth1.blogspot.com/2020/07/covid-19.html) น่าจะส่งผลให้กองทัพอากาศไทยอาจจะพิจารณาเลื่อนโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงใหม่เพื่อแทน C-130H ออกไปก่อนครับ