วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

กองทัพเรือไทยทำพิธีปล่อยเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงปันหยีลำที่สามลงน้ำ เรือหลวงตาชัย








Royal Thai Navy (RTN) held launching ceremony for YTM-859 HTMS Ta Chai, new thrid Panyi-class Tugboat at Asian Marine Service PCL (ASIMAR) shipyard in Samut Prakan Province, Thailand on 25 January 2023. (Royal Thai Navy)


พิธีปล่อยเรือหลวงตาชัย ลงน้ำ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๖ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) อ.พระสมุทรเจดีย์ จว.สมุทรปราการ

กองทัพเรือ จัดพิธีปล่อยเรือหลวงตาชัยลงน้ำ
วันที่ 25 มกราคม 2566 พลเรือเอก เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงตาชัยลงน้ำ โดยมี นางจตุพร  ชมเชิงแพทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นสุภาพสตรี ผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ 
ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลา 14.00 น. ผู้บัญชาการทหารเรือได้เดินทางถึงบริเวณพิธี 
โดยมี พลเรือเอก อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือโท ชาติชาย  ทองสะอาด รองเสนาธิการทหารเรือ /ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง พลเรือตรี เสนอ  เงินสลุง ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ 
พลเรือตรี สมบัติ  แย้มดอนไพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิต อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ /ประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุโครงการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง และ นายสุรเดช  ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) 
ร่วมให้การต้อนรับ จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยอาราธนาพระอาจารย์มหาราเชน ธัมมปาโล รักษาการเจ้าอาวาส วัดเอี่ยมประชามิตร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ต่อมาในเวลา 14.49 น. ซึ่งเป็นเวลาฤกษ์อันเป็นมหามงคล 
นางจตุพร  ชมเชิงแพทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ /สุภาพสตรีผู้ประกอบพิธี ได้ตัดเชือกปล่อยเรือหลวงตาชัยลงน้ำ จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ และสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีฯ 
ได้ลงนามในสมุดที่ระลึก ร่วมบันทึกภาพ และเยี่ยมชมนิทรรศการทางเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน)

ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 - 2567 โครงสร้างกำลังรบ ได้กำหนดให้มีเรือลากจูงสำหรับใช้ปฏิบัติราชการในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 8 ลำ ซึ่งในปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือลากจูงปฏิบัติราชการแล้ว จำนวน 6 ลำ และมีแผนปลดระวางประจำการ 1 ลำ ทำให้เหลือเรือลากจูงใช้ในราชการ เพียง 5 ลำ กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นในการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลางเพื่อมาทดแทน ซึ่งการต่อเรือหลวงตาชัย เรือลากจูงขนาดกลางลำนี้ จะทำให้มีเรือลากจูงที่เพียงพอต่อการสนับสนุนเรือขนาดใหญ่ และเรือดำน้ำที่กองทัพเรือจะได้รับมอบมาใช้ปฏิบัติราชการในปี 2567 
นอกจากนี้การต่อเรือหลวงตาชัย กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีคัดเลือกจากบริษัท อู่ต่อเรือภายในประเทศ คือบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) 
เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านองค์บุคคล องค์ความรู้ และช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ 
อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
ทั้งนี้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐทุกประการ 
โดยมีกำหนดส่งมอบภายใน 540 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา หรือภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 และเข้าประจำการที่กองเรือยกพลขึ้นบก และยุทธบริการ กองเรือยุทธการ

พิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แบบสากลให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี โดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ 
การนี้ สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน 
คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีได้รับบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ 
จนถึงปัจจุบันนี้พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวี เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 
ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงเสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2453 ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น 
สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดย กรมอู่ทหารเรือที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ 1) 
ซึ่งมี คุณหญิงวิจิตรา  ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2500

คุณลักษณะของเรือลากจูงขนาดกลาง 
1. ขนาดของเรือเป็นไปตามแบบเรือ Ramparts 3200 SD
- ความยาวตลอดลำ 31.50 เมตร
- ความกว้าง   12.60 เมตร
- ความลึกเรือ 5.40 เมตร
- กินน้ำลึก 4.50 เมตร 
2. ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่น้อยกว่า 12.1 นอต โดยกำลังของเครื่องยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 100 ของ MCR 
3. มีการจัดแบ่งห้องพักอาศัยของกำลังพล จำนวน 20 นาย
4. มีสถานที่จัดเก็บเสบียงอาหาร และระบบน้ำจืดเพียงพอต่อการปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง
5. ระยะปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 2,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็ว 8 นอต ที่ระวางขับน้ำเต็มที่
ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ
1. สามารถเข้าดึงและดันเรือขนาดใหญ่ของกองทัพเรือ และรวมไปถึงเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ได้อย่างคล่องตัวปลอดภัย และสามารถเคลื่อนที่ไปทางข้างได้ โดยมีขีดความสามารถทางการลากจูง และเรือมีกำลังดึง ไม่น้อยกว่า 
55 เมตริกตัน
2. สามารถปฏิบัติงานในท่าเรือ และชายฝั่งได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเรือมีความคงทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 3 
3. สามารถดับเพลิงไหม้ในเรือ ทั้งในเขตฐานทัพ ท่าเรือต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ตลอดชายฝั่งได้
4. สามารถขจัดคราบน้ำมันในทะเลบริเวณท่าเรือและบริษัทได้
5. สามารถสนับสนุนภารกิจอื่นๆ ด้วยความสามารถที่มีอยู่ได้ หากมีความจำเป็น เช่น การลากเป้าในการฝึกยิงอาวุธ
ระบบขับเคลื่อน 
1. เครื่องจักรใหญ่ดีเซลแบบที่ใช้งานในเรือที่มีมาตรฐานการปล่อยก๊าซตามข้อกำหนดขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศที่ใช้ฉบับบล่าสุดในระดับ IMO Tier II compliant จำนวน 2 เครื่อง
2. เครื่องจักรใหญ่แต่ละเครื่อง มีระบบควบคุมความเร็วที่ตัวเครื่อง และมีระบบเลิกเครื่องฉุกเฉิน รุ่น MTU BLUE VISION LOP 14 
3. ในการณีฉุกเฉิน สามารถขับเคลื่อนเรือได้ด้วยเครื่องจักรใหญ่เพียงเครื่องเดียว โดยไม่ก่อให้เกิดความชำรุดเสียหายใด ๆ ต่อระบบขับเคลื่อนที่เหลือ
4. ชุดขับเคลื่อนเป็นแบบ Azimuth Thruster แบบ Azimuth Stern Drive ประกอบ Kort Nozzle ตราอักษร SHOTTEL รุ่น SCHOTTEL SRP400 การหมุนของใบจักร เมื่อมองจากท้ายเรือ ใบจักรขวาจะหมุนตามเข็มนาฬิกา ใบจักรซ้าย
จะหมุนทวนเข็มนาฬิกา สามารถบังคับเรือให้ไปทางข้างได้ ทั้งซ้ายและขวา ใช้ส่วนหัวเรือ ทั้งดึงและดันได้โดยไม่ต้องกลับลำเรือ และเน้นการใช้งานสำหรับการดันเรือเป็นหลัก

กองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) ได้ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำของเรือลากจูงขนาดกลางชุดเรือหลวงปันหยีลำที่สาม เรือหลวงตาชัย เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๖(2023) ณ อู่เรือบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน)(ASIMAR: Asian Marine Service PCL) ไทย
ซึ่งได้มีพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔(2021)(https://aagth1.blogspot.com/2021/09/tugboat.html) โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จเพื่อส่งมอบขึ้นระวางประจำการได้ภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ตามความล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์ระบาด Covid-19

เรือลากจูง ร.ล.ตาชัย ยังคงใช้แบบเรือลากจูง Ramparts 3200 SD ของ บริษัท Robert Allan Ltd.แคนาดา เรือลากจูงขนาดกลางชุด ร.ล.ปันหยี ๒ลำก่อนหน้าที่ถูกสร้างโดย บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด(Italthai Marine Limited) ไทย
คือ เรือหลวงปันหยี(857) ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐(2017) และเรือหลวงหลีเป๊ะ(858) ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓(2020)(https://aagth1.blogspot.com/2020/01/blog-post_24.html)

ปัจจุบันกองทัพเรือไทยมีเรือลากจูงขนาดกลาง(Medium Tugboat) ประจำการอยู่ใน กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กยพ.(ACSSS: Amphibious and Combat Support Service Squadron) กองเรือยุทธการ กร.(RTF: Royal Thai Fleet) รวม ๕ลำคือ
เรือลากจูงชุดเรือหลวงริ้น ๑ลำคือ ร.ล.ริ้น(853)  เรือลากจูงชุดเรือหลวงแสมสาร ๒ลำคือ ร.ล.แสมสาร(855) และเรือหลวงแรด(856) และเรือลากจูงชุดเรือหลวงปันหยี ๒ลำ โดยเรือหลวงรัง(854) เรือลากจูงชุด ร.ล.ริ้นลำที่สอง ถูกปลดประจำการไปแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ๒๕๖๕

ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๗(2015-2024) ที่ต้องการเรือลากจูงไว้ใช้งานรวม ๘ลำ ทำให้เข้าใจว่ากองทัพเรือไทยจะมีการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลางเพิ่มเติมอีก ๓ลำต่อจาก ร.ล.ตาชัย ที่ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำไป และทดแทน ร.ล.ริ้น ที่น่าจะปลดประจำการในปี ๒๕๖๖ นี้
รวมถึงเรือลากจูงขนาดเล็กชุดเรือหลวงกลึงบาดาร ๒ลำที่ปลดประจำการลงหมดแล้ว เรือลากจูงชุด ร.ล.ปันหยี ใช้แบบเรือตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ติดตั้งอุปกรณ์ที่น่าเชื่อถือเช่นเครื่องยนต์ดีเซล MTU 16V 4000 M54 เยอรมนี และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างเรือของไทยครับ