วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

กองทัพเรือไทยทำพิธีวางกระดูกงูเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำใหม่








Royal Thai Navy (RTN) held keel laying ceremony of the new Oceanographic Survey Ship at Asian Marine Service PCL (ASIMAR) shipyard in Samut Prakan Province, Thailand on 27 February 2024. (Royal Thai Navy) 



พิธีวางกระดูกงูเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 13.00 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 
พร้อมด้วย คุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ โดยมี พลเรือโท ไพศาล ชะโนภาศ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดหาเรือในครั้งนี้

กองทัพเรือได้รับอนุมัติให้จัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ จำนวน 1 ลำ เพื่อทดแทนเรือหลวงสุริยะ ที่จะปลดระวางประจำการ เพื่อให้กองทัพเรือยังคงมีขีดความสามารถในการตรวจซ่อมเครื่องหมายทางเรือในน่านน้ำไทย 
สนับสนุนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางด้านอุทกศาสตร์และสมุทรศาสตร์ สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ส่งกำลังบำรุงให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของ กองทัพเรือ ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลหรือในทะเล และสนับสนุนกิจอื่นๆตามที่ได้รับการร้องขอได้ตามความเหมาะสม

สำหรับเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ที่จัดให้มีพิธีวางกระดูกงูในวันนี้ มีคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ มีความยาวตลอดลำ 60 เมตร ความกว้างตัวเรือ 13.3 เมตร กินน้ำลึกเต็มที่ 3.05 เมตร ระวางขับน้ำ 1,460 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ 13.1 นอต 
กำลังพลประจำเรือ 67 นาย สามารถปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน ระยะปฏิบัติการ 2,400 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วมัธยัสถ์ 10 นอต มีความคงทนทะเลได้ไม่น้อยกว่าสภาวะทางทะเลระดับ 5
สามารถสนับสนุนการสำรวจทางอุทกศาสตร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการสำรวจอุทกศาสตร์ชั้นพิเศษขององค์การอุทกศาสตร์สากล พร้อมเชื่อมต่อเข้ากับระบบ IBS ซึ่งเป็นสะพานเดินเรือแบบรวมการ 
มีการเชื่อมต่อเครื่องมืออุปกรณ์เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะของ Ethernet Network ตามมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศหรือ IMO

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวเพื่อเป็นเกียรติในพิธี โดยมีใจความสำคัญระบุว่า “ตามที่กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ จำนวน 1 ลำ เพื่อทดแทน เรือหลวงสุริยะ ที่จะปลดระวางประจำการ 
โดยว่าจ้างบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือให้สามารถตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้สำเร็จเรียบร้อยมาตามลำดับจนถึงขั้นตอนที่สำคัญในวันนี้ คือ การวางกระดูกงูเรือ 
ซึ่งทางกองทัพเรือมีความเชื่อมั่นในขีดความสามารถและประสบการณ์ของ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ว่าจะสามารถดำเนินการสร้างเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำนี้ ให้ประสบผลสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ”

พิธีวางกระดูกงูเรือนั้นถือว่าเป็นพิธีสำคัญพิธีแรกในการสร้างเรือ และได้ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยโบราณ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 คำว่า “กระดูกงู” หมายถึง ตัวไม้หรือเหล็กที่ทอดตลอดลำเรือสำหรับตั้งกง ซึ่งพิธีวางกระดูกงูเรือของแต่ละชาติอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละชาติ
สำหรับราชนาวีไทยพิธีวางกระดูกงูเรือ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเรือที่จะก่อให้เกิดความสวัสดีมีชัยและความวัฒนาถาวรให้แก่เรือ และยังถือว่าเป็นการอัญเชิญแม่ย่านางเรือให้เข้าสถิตแก่เรืออีกด้วย ซึ่งมีการประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือมาตั้งแต่สมัยเรือรบที่สร้างตัวเรือด้วยไม้ 
ต่อมาได้เปลี่ยนการสร้างจากตัวเรือไม้มาเป็นตัวเรือเหล็ก โดยเรือรบที่สร้างด้วยเหล็กและมีการทำพิธีวางกระดูกงูเป็นครั้งแรกคือ เรือหลวงสัตหีบ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2499 โดยกรมอู่ทหารเรือเป็นผู้สร้าง 
ในพิธีก็จะประกอบไปด้วย พิธีทางศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พิธีพราหมณ์ประกอบการบูชาฤกษ์ การเจิมกระดูกงู คล้องพวงมาลัย แล้วทำพิธีวางกระดูกงู โดยใช้ค้อนตอกย้ำหมุดตัวแรกหรือกดปุ่มสวิตซ์ทำการประสานกระดูกงูด้วยไฟฟ้า เป็นต้น

กองประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

กองทัพเรือไทย(RTN: Royal Thai Navy) ได้ลงนามสัญญาการสร้างเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ วงเงิน ๘๘๕,๐๐๐,๐๐๐บาท($24,552,298.35) กับบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน)(ASIMAR: Asian Marine Service PCL) ไทยเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๖(2023)
โดยได้มีการทำพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๗(2024) ณ อู่เรือบริษัท ASIMAR ไทย ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตามกำหนดส่งมอบเรือภายใน ๗๖๐วันหลังลงนามสัญญาคาดว่าเรือจะถูกส่งมอบได้ภายในวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๘(2025)

โครงการสร้างเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ใหม่ ๑ลำมีวัตถุประสงค์ที่จะทดแทนเรือใช้งานเครื่องหมายทางเรือ เรือหลวงสุริยะ(ลำที่๒) ที่ประจำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒(1979) ซึ่งสร้างโดยบริษัทอู่กรุงเทพ(Bangkok Dock) ไทยที่สั่งสร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๙(1976) วงเงิน ๕๒,๕๑๗,๐๐๐บาทในเวลานั้น
เรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำใหม่ใช้สิทธิบัตรเแบบเรือ Offshore Support Vessel เรือ MV HORIZON NOMAD ของบริษัท SeaTech Solutions International (S) Pte Ltd สิงคโปร์ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือถูกสร้างใช้งานจริงแล้ว และสร้างในไทยเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมทางเรือของไทยด้วยครับ