Royal Thai Fleet, Royal Thai Navy (RTN) conducted combine of Naval Squadrons, Naval Air Wings and Naval Special Warfare Command training exercise for Fiscal year 2021 in 7-8 December 2020.
ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธีกองเรือ กองบิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ของกองเรือฝึกกองเรือยุทธการ ประจำปีงบประมาณ 64
ในระหว่างวันที่ 7 - 8 ธ.ค.63 พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธีกองเรือ กองบิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ประจำปีงบประมาณ 64 บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร
โดยมี พลเรือเอก สุธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และผู้บัญชาการกองเรือฝึกกองเรือยุทธการ 64 ให้การต้อนรับ พร้อมนำชมการปฏิบัติของกำลังพล และชมการฝึกที่สำคัญบนเรือหลวงภูมิพล และเรือหลวงจักรีนฤเบศร เช่น
- การปฏิบัติการร่วมของเรือและอากาศยาน
- การแปรกระบวน
- การรับส่งสิ่งของในทะเล
- การป้องกันความเสียหายภายในเรือ
- การตรวจจับเป้าใต้น้ำ
- การปราบเรือดำน้ำต่อเป้าที่ใช้ในการฝึกปราบเรือดำน้ำ (EMATT)
- การต่อต้านการก่อการร้าย
- การอำนวยการยุทธ์
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้เยี่ยมชมการฝึกตลอดระยะเวลา 2 วัน อย่างใกล้ชิดอีกด้วย โดยมีกำลังที่เข้าร่วมการฝึก ดังนี้
- เรือ จำนวน 11 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร , เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช , เรือหลวงตากสิน , เรือหลวงเจ้าพระยา , เรือหลวงบางปะกง , เรือหลวงสิมิลัน , เรือหลวงรัตนโกสินทร์ , เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ , เรือหลวงชลบุรี , เรือหลวงหัวหิน และเรือหลวงสงขลา
- อากาศยาน จำนวน 8 ลำ ประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ แบบที่ 1 (S-70B) จำนวน 3 ลำ , เฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือผิวน้ำ แบบที่ 1 (Super lynx 300) , เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบที่ 2 (bell-212) ,
เครื่องบินต่อต้านเรือผิวน้ำ แบบที่ 1 (F27 mk200) , เครื่องบินลาดตระเวน แบบที่ 1 (DO 228) , เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบที่ 6 (EC-645T2)
- ชุดปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 1 ชุด
การฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธีกองเรือฯ มีวัตถุประสงค์
- ด้านองค์บุคคล เพื่อให้กำลังพล ประจำเรือ อากาศยาน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่รับผิดชอบ ทั้งในลักษณะเป็นรายบุคคล และปฏิบัติงานเป็นทีม
อีกทั้งเสริมสร้างทักษะ และประสบการณ์ทางยุทธวิธีในการตัดสินใจ การอำนวยการยุทธ์ และการบังคับบัญชาสั่งการ
- ด้านองค์วัตถุ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของเรือ อากาศยาน และอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งเอกสาร บรรณสาร คู่มือที่ใช้ประกอบในการปฏิบัติการทั้งหมด และเพื่อให้กำลังพลที่มีหน้าที่รับผิดชอบมีความคุ้นเคยในการใช้งาน และมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่
- ด้านองค์ยุทธวิธี เพื่อตรวจความพร้อมของยุทธวิธีตามขีดความสามารถการปฏิบัติการทางเรือที่แต่ละกองเรือรับผิดชอบ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำหลักนิยมในการปฏิบัติการแต่ละสาขาของกองเรือยุทธการที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ
โดยผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะผู้บัญชาการกองเรือฝึกกองเรือยุทธการ 64 มอบนโยบายการฝึกภายใต้แนวคิดที่ว่า “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” เพื่อทำให้กำลังพลทุกนายมีความเป็น ”นักรบทางเรือ” เป็นความสำคัญอันดับแรก เพราะ “เหล็กในคนสำคัญกว่าเหล็กในเรือ”
ฝึกให้เกิดความคุ้นเคยและเกิดความชํานาญสูงสุด ทั้งนี้ได้นําบทเรียน ปัญหาข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะจากการฝึกในห้วงหลายปีที่ผ่านมา นํามาพัฒนาการฝึกให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น
โดยให้หน่วยต่างๆ ของกองเรือยุทธการ ฝึกและเตรียมกำลังรบของหน่วยให้มีความพร้อมรบ และพร้อมในการปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์ที่สมจริง ซึ่งขั้นตอนการฝึกประกอบด้วย
- ขั้นการฝึกในท่า (Harbor Phase) มุ่งเน้นการฝึกความเป็นชาวเรือ โดยฝึกให้กำลังพลมีความรู้ในหน้าที่และฝึกความคุ้นเคยเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรือ ตลอดจนยุทธวิธี โดยให้ใช้เครื่องฝึกจำลองยุทธ์ให้มากที่สุด
- ขั้นการฝึกในทะเล (Sea Phase) แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 จัดให้มีการวางแผนการฝึกร่วมกัน ระหว่างหน่วยต่างๆ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในการฝึก
ระยะที่ 2 จัดให้มีการทดสอบแผนด้วยเครื่องฝึกจำลองยุทธ์
ระยะที่ 3 จัดการฝึกในทะเลแบบบูรณาการร่วมกัน ฝึกการปฏิบัติการร่วมกันเป็นกองเรือ และกำหนดให้การฝึกต้องผ่านมาตรฐานในระดับความปลอดภัยในการนำเรือ (Safe To Sail) และการฝึกยุทธวิธีเบื้องต้น (Basic Tactic Operations)
- สรุปผลการฝึก (Post Exercise) เป็นการสรุปผลการฝึก บทเรียนที่ได้รับจากการฝึก ปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้อง ข้อเสนอแนะ
ทั้งนี้กองการฝึกกองเรือยุทธการจะทำการประเมินการฝึก ประเมินผลความพร้อมของเรือต่างๆ ที่เข้าร่วมการฝึกทั้งองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ตั้งแต่ขั้นการฝึกในท่า รวมถึงกำหนดสถานการณ์การฝึก ควบคุม และประเมินผลการฝึกขั้นการฝึกในทะเล
กองเรือยุทธการ นับเป็นกำลังรบหลักของกองทัพเรือ ประกอบไปด้วยหน่วยต่างๆ ที่มียุทธวิธีในการปฏิบัติเฉพาะ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำการฝึกให้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องภายใต้การอำนวยการยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอันเกิดจากการฝึกจนมีความชำนาญ
จึงจะทำให้กองเรือยุทธการเป็นกำลังรบที่มีความพร้อม สามารถตอบสนองทุกภารกิจของกองทัพเรือ ทั้งในยามเกิดความขัดแย้ง หรือการปฏิบัติด้านมนุษยธรรม
เป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือที่ว่า “พลังสามัคคี พลังราชนาวี” เพื่อให้เป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ
:กองกิจการพลเรือน กองเรือยุทธการ
การฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธีกองเรือ กองบิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ของกองเรือฝึก กองเรือยุทธการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔(2021) เป็นการฝึกทางทะเลขนาดใหญ่ล่าสุดในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๖๓(2020) ก่อนจะขึ้นปีใหม่ของกองทัพเรือไทย
ซึ่งการประกอบกำลังเรือผิวน้ำที่ประกอบด้วย เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ร.ล.จักรีนฤเบศร, เรือฟริเกตติดอาวุธปล่อยนำวิถี ร.ล.ภูมิพลอดุลยเดช และเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ ร.ล.สิมิลัน, เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร ร.ล.ตากสิน, เรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา ร.ล.เจ้าพระยา และ ร.ล.บางปะกง,
เรือคอร์เวตชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ร.ล.รัตนโกสินทร์, เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงกระบี่ ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์, เรือเร็วโจมตีปืนชุดเรือหลวงชลบุรี ร.ล.ชลบุรี และ ร.ล.สงขลา และเรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหัวหิน ร.ล.หัวหิน,
กำลังอากาศยานจาก กองการบินทหารเรือ ประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ฮ.ปด.๑ Sikorsky SH-60B Seahawk, เฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือผิวน้ำ ฮ.ตผ.๑ Leonardo Super Lynx 300, เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ฮ.ลล.๒ Bell 212,
เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ฮ.ลล.๖ Airbus Helocopter H145M(EC645T2), เครื่องบินต่อต้านเรือผิวน้ำ บ.ตผ.๑ Fokker F-27 MK 200 และเครื่องบินลาดตระเวน บ.ลว.๑ Dornier Do 228 และชุดปฏิบัติการพิเศษ จาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ(Royal Thai Navy SEALs)
เป็นการแสดงถึงความพร้อมรบของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในองค์รวมของกองทัพเรือไทยได้เป็นอย่างดีแม้ว่าการฝึกในช่วงปี พ.ศ.๒๕๖๓ นี้จะติดปัญหาการระบาดของ Covid-19 รวมถึงการโจมตีด้วยโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อชาติในการทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพเรือไทยครับ